วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ออทิสติกหรือแค่ฟิกเซชั่น

เนื่องจากอาการของเด็กออทิสติกคือไม่สบตาไม่เข้าสังคม ชอบพูดภาษาแปลกๆ เป็นอาการเด่น  ซึ่งถ้าเราย้อนไปดูในปฏิทินพัฒนาการแล้วจะเห็นว่าในเด็ก 1 เดือนเด็กจะมีการสบตา จ้องหน้า ยิ้มทัก  ยิ้มตอบ  ที่เป็นพัฒนาการในด้านสังคม และในเด็ก 2-3 เดือน เด็กจะตอบสนองต่อเสียงกระดิ่ง ส่งเสียง  ทำเสียงอูอา หัวเราะ ทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ  ที่เป็นพัฒนาการทางด้านภาษา  และพอถึง 4-5 เดือนเด็กจะเริ่มหันหาเสียงเขย่าหรือเสียงเรียก 
เมื่อนำอาการของเด็กออทิสติกมาเปรียบเทียบกับลำดับพัฒนาการแล้วจะเห็นว่าทางด้านสังคมเด็กยังไม่มีการสบตา จ้องหน้า ยิ้มทัก ยิ้มตอบ ที่ชัดเจน ทางด้านภาษามีการพัฒนามาหยุดอยู่ที่ 4-5 เดือนคือไม่ค่อยหันหาเสียงเขย่าหรือเสียงเรียก จึงทำให้อาจคิดไปได้ว่าเด็กมีภาวะติดข้อง (fixation) อยู่ในพัฒนาการช่วงวัยนี้ และไม่สามารถไปต่อได้  เด็กหลายๆ คนผู้ปกครองพยายามส่งเสริมให้มีพัฒนาการในขั้นต่อๆ ไป แต่ก็ยังคงเห็นลักษณะของการติดข้องอยู่ในช่วงวัยดังกล่าวอยู่ดี 
           อย่างไรก็ตาม "ออทิสติกหรือแค่ฟิกเซชั่น" เป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งในหลายๆ สมมติฐานที่ทำให้เราได้ฉุกคิดหรือนำมาเป็นแนวทางการแก้ไขเท่านั้น ส่วนจะแก้ไขอย่างไรให้หายจากอาการ ตอนนี้คงยังไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้...


หลายสำนัก


การเรียนการสอนในปัจจุบันมีวิธีการที่หลากหลาย  ถ้าเปรียบเทียบกับหนังจีนกำลังภายในแล้วก็เรียกว่ามีอยู่หลายสำนัก  แค่เรียนให้อ่านออกเขียนได้เท่านั้นมีคนคิดค้นวิธีการมากมาย  ต้องแนวนั้นแนวนี้จนผู้ปกครองงงไปตามๆ กัน  เพราะก่อนนำบุตรหลานเข้าไปเรียนเขาโฆษณาสรรพคุณของแนวทางไว้อย่างยอดเยี่ยม  แต่พอเข้าไปเรียนจริงๆ  ทำไมถึงมีหลายอย่างที่ไม่ถูกใจเราซักเท่าไหร่
           มาดูที่เป้าหมายของเราก่อนว่าเราต้องการให้ลูกเข้าไปเรียนรู้อะไร  ถ้าการที่เราส่งลูกเข้าไปเรียนเพื่อให้เขาอ่านออกเขียนได้เป็นประเด็นหลัก  สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเป็นประเด็นรอง  ก็คงต้องดูโรงเรียนที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านการเขียนให้มากหน่อย  มีแนวทางหรือลำดับขั้นเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ที่เป็นรูปธรรมเพียงพอให้มองภาพออกว่าถ้าเรียนไปแล้วในท้ายที่สุดลูกของเราจะสามารถอ่านออกเขียนได้  จากนั้นจึงดูองค์ประกอบในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นอาคารเรียน  ผู้คน  เพื่อนนักเรียน  และกิจกรรมอื่นๆ  ที่เป็นประสบการณ์ในระหว่างอยู่ที่โรงเรียน 
           ส่วนใครที่มองในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก  การอ่านออกเขียนได้เป็นประเด็นรอง  คงต้องมองหาโรงเรียนที่ตอบสนองสิ่งที่ตัวคุณเองต้องการว่าต้องการให้ลูกเรียนแล้วได้อะไรบ้าง  ตัวอย่างเช่น บรรยากาศในห้องเรียน  ความสามารถของครูในการสอนให้สนุก  กิจกรรมหลากหลาย  การเรียนการสอนที่เน้นภาษาต่างประเทศ  การบูรณาการวิชาการ  ความคิดสร้างสรรค์  ฯลฯ  จากนั้นจึงดูว่าเมื่อทางโรงเรียนเตรียมกิจกรรมที่หลากหลายเหล่านี้ไว้ให้นักเรียนแล้ว  เวลาที่ให้กับกิจกรรมการอ่านการเขียนมีมากพอหรือไม่  หรือทางโรงเรียนมีแนวทางอย่างไรใช้เวลานานมั๊ยกว่าที่เด็กจะอ่านออกเขียนได้  เพราะคงไม่มีโรงเรียนไหนที่บอกว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนนี้แล้วจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  แต่เราจะให้ประสบการณ์ที่เหนือชั้นกว่าโรงเรียนอื่นๆ  เพราะการอ่านการเขียนยังไงก็เป็นเบื้องต้นของการแสวงหาความรู้ในโรงเรียน
       อย่างไรก็แล้วแต่การโฆษณากับการเรียนการสอนจริงก็มีข้อแตกต่างกันอยู่  การโฆษณาอาจพูดข้อดีเอาไว้หลายอย่างเวลาไปเรียนจริงอาจพบว่ามีข้อดีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้โฆษณา  หรือโฆษณาข้อดีเอาไว้หลายอย่างแต่เวลาไปเรียนจริงพบว่ามีข้อเสียหลายอย่างเหมือนกัน  ดังนั้นการส่งลูกไปโรงเรียนก็เหมือนกับการลงทุนอย่างหนึ่ง  ผู้ออกทุนให้ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการลงทุน

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเรียนรู้


          โดยทั่วไปแล้วการเรียนรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งควรให้เวลาและมีลำดับก่อน-หลัง เรียนรู้จากเรื่องง่ายที่สามารถเข้าใจได้ (รูปธรรม) ไปจนถึงเรื่องที่เข้าใจได้ยาก( นามธรรม)
            การที่เราเร่งรีบเรียนรู้เพื่อให้เรามีความรู้โดยเร็วมักมีเรื่องที่เรายังไม่รู้หรือมองข้ามไป ในหลายๆ ครั้งยังก่อให้เกิดผลในแง่ลบไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งอีกด้วย.....

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ห่วงกับหายห่วง

             พื้นฐานอย่างหนึ่งของการใช้สามห่วงพัฒนาการ คือ จะต้องรู้จักห่วงใยผู้อื่น และ รู้จักว่าลักษณะอย่างไรจึงหมดห่วงได้ บางครั้งเรากังวลเกี่ยวกับคนที่เรารักในเรื่องต่างๆ ก็เพราะความเป็นห่วงเป็นใยกลัวว่าจะมีภัยจึงคิดไปต่างๆ นานา คิดว่าอาจจะเป็นอย่างนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไร จะมีทางแก้ไขได้ทันท่วงทีหรือไม่ จนกระทั่งเราได้ทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็นการป้องกันภัยไว้อย่างรอบคอบแล้วเราจึงสบายใจได้ในระดับหนึ่ง และเมื่อสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยที่การป้องกันภัยที่วางไว้ได้ผลดี เมื่อเกิดสถานการณ์นั้นอีกเราก็จะสบายใจหายห่วง
 
          ในแง่ของสามห่วงพัฒนาการ ห่วงแต่ละห่วงจะถูกสร้างขึ้นมาจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ ว่าเราต้องการฝึกเรื่องอะไร เส้นทางที่ไปให้ถึงเป้าหมายถูกกำหนดขึ้นมาเป็นห่วงแต่ละห่วง เมื่อเรานำมาเปรียบเทียบกันกับข้อความข้างต้น เป้าหมายที่เราจะฝึกคือสถานการณ์ที่เรามีความกังวลใจ การป้องกันภัยคือสามห่วงพัฒนาการ
 
          ดังนั้นเมื่อเรามีความห่วงใย เราสามารถกำหนดเป้าหมายจากความห่วงใยนั้น การทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็นการป้องกันภัยถูกกำหนดขึ้นให้มีลักษณะที่ครอบคลุมโดยสามห่วงพัฒนาการ การฝึกฝน ทำซ้ำจนมั่นใจว่าเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เรามีความกังวลใจแล้วจะไม่มีภัยมาถึงตัว สามารถผ่านสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เราจึง... สบายใจหายห่วง
 
 
 
 

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สี่จตุรเทพแห่งการช่วยเหลือตนเอง


กินข้าว  อาบน้ำ  แปรงฟัน แต่งตัว



สี่จตุรเทพแห่งการช่วยเหลือตนเองในที่นี้หมายถึง การกินข้าว  อาบน้ำ  แปรงฟัน  และการแต่งตัว  เป็นเทพที่คอยปกป้องดูแลจากการสัมผัสของผู้อื่นทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ

        ในเด็กแรกเกิดยังไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้  ความสามารถแรกที่ติดตัวมาคือการดูดกลืนอาหาร  ดูดน้ำนมจากอกแม่นานนับเดือนกว่าฟันจะขึ้นมาให้ทดลองใช้กัดสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในช่องปาก  วันเวลาผ่านไป  ร่างกายทารกเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กตัวเล็กๆ มีความสามารถมากขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะควบคุมสี่จตุรเทพให้คอยปกป้องดูแลตนเอง จึงต้องฝึกฝนอย่างค่อยเป็นค่อยไป  รู้จักร่างกายของตนเอง  รู้จักส่วนต่างๆ และการใช้งาน  รู้จักแขน ขา นิ้วมือ  การบังคับควบคุมให้เป็นไปได้อย่างใจคิด เมื่อเด็กควบคุมส่วนต่างๆ ได้แล้วจึงพร้อมที่จะควบคุมสี่จตุรเทพ   ซึ่งในครอบครัวที่ส่งเสริมให้โอกาสเด็กได้ควบคุมสี่จตุรเทพ  เด็กจะพัฒนาความสามารถและทักษะต่างๆ ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และชำนาญมากขึ้นเมื่อได้ทำทุกๆ วัน  แต่ในครอบครัวที่ไม่ส่งสี่จตุรเทพมาให้เด็กได้ทดลองควบคุม ให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ควบคุม  เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องไปนอกบ้าน มักสร้างปัญหาบางอย่างขึ้นจนนานวันไป ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันๆ จะค่อยๆ สะสมก่อตัวภายในจิตใจเด็กน้อยจนมีผลกับการรับรู้ตัวตนของตัวเองว่าเวลาจะทำอะไรต้องคอยเรียกให้ผู้อื่นช่วย  รับรู้ว่าตนเองไม่มีความสามารถอะไรจนขาดความมั่นใจในกิจกรรมต่างๆ ไปด้วย
             ดังนั้น เมื่อเด็กเริ่มความคุมร่างกายตนเองได้พอสมควรแล้วเราควรให้โอกาสทดลองควบคุมสี่จตุรเทพด้วยตนเอง

 

สามห่วงกับความห่วงใยสามอย่าง


ความห่วงใยที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีให้ลูกนั้นถ้านับเป็นเรื่องๆ คงมีอยู่หลายเรื่องเลยทีเดียว ทั้งในเรื่องสุขภาพร่างกาย  อาหารการกิน  ความสุขของลูกรัก  อารมณ์การเรียนรู้ ฯลฯ  มากมายนับไม่ถ้วน  และยิ่งพูดถึงเรื่องอนาคตของลูกน้อยคงสาธยายกันไม่หมดว่ามีเรื่องอะไรบ้าง  แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของพัฒนาการนั้นเราอาจระบุได้สามเรื่องใหญ่ๆ ว่าเราควรห่วงใยเรื่องอะไรบ้างในตัวลูกรักเพื่อจะทำให้เขามีพัฒนาการในด้านต่างๆ เหมาะสมตามวัย ซึ่งในความห่วงใยแรกนั้นได้แก่เรื่องของการช่วยเหลือตนเอง การรับประทานอาหาร  อาบน้ำ  แปรงฟัน  แต่งตัว  ความห่วงใยที่สองก็คือเรื่องของการเล่นเพื่อพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์  ด้านสังคม  ด้านสติปัญญา  และความห่วงใยที่สามคือเรื่องของระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ

            ในสามความห่วงใยนี้ล้วนเกี่ยวโยงกัน  เพราะเมื่อเด็กสามารถช่วยเหลือตนเองได้พอสมควรแล้วนั่นหมายความว่าเขามีพัฒนาการทางด้านร่างกายในทางที่ดี  เนื่องจากการรับประทานอาหาร อาบน้ำ  แปรงฟัน แต่งตัว  เขาจะต้องควบคุมกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ  ทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่เพื่อทำกิจกรรมให้สำเร็จ  พอช่วยเหลือตนเองได้แล้วเด็กจะพร้อมเรียนรู้สู่โลกภายนอก การออกสู่สังคมนอกบ้านนั้นเด็กจะสนุกที่ได้เล่น ได้เรียนรู้โลกที่กว้างขึ้น  รู้จักสิ่งต่างๆ  รู้จักผู้คน  ทุกอย่างที่เห็นและได้ยินล้วนน่าตื่นตาตื่นใจ 
             ดังนั้นทุกครั้งที่เด็กได้เล่น พัฒนาการทางด้านอารมณ์จะถูกพัฒนาขึ้น  ยิ่งเขาได้รู้จักอารมณ์ที่หลายหลายและรู้จักวิธีการจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นมากเท่าไร  เมื่อเขาออกสู่โลกภายนอกเขาจะมีวิธีการเข้าสังคมที่หลากหลายขึ้นเท่านั้น  และการที่เด็กมีวิธีการจัดการกับเรื่องต่างๆ ที่หลากหลายนั้นก็เป็นเครื่องหมายหนึ่งของการแสดงออกในพัฒนาการทางด้านสติปัญญาว่าเด็กคนนั้นมีความรู้ความคิดมากน้อยเพียงใด  ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ถ้าเด็กแสดงออกมาโดยรู้จักระเบียบวินัยต่างๆ และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ  พ่อแม่ผู้ปกครองก็คงหมดห่วงได้... 

 

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เป้าหมาย "การแปรงฟัน"

เมื่อได้เป้าหมายแล้ว  จากนั้นจึงทำการกำหนดสามห่วงพัฒนาการขึ้นมาว่ามีสิ่งใดบ้างที่จำเป็นและสำคัญสำหรับการแปรงฟันซึ่งในที่นี้เราจะกำหนดสามห่วงขึ้นมาดังนี้คือ  ควบคุมแปรง  จุดสัมผัส ความสะอาด
ควบคุมแปรง คือการใช้ร่างกาย (มือ) บังคับควบคุมแปรงสีฟันให้ได้อย่างใจคิด
จุดสัมผัส คือ จุดที่สัมผัสระหว่างหัวแปรงกับฟัน
ความสะอาดคือ การควบคุมแปรงสีฟันไปในทิศทางต่างๆ ให้หัวแปรงถูกจุดสัมผัสที่กำหนดเพื่อทำความสะอาด
          ต่อมาจึงนำสามห่วงที่กำหนดขึ้นมานำไปทำการพัฒนาตามเป้าหมายที่วางเอาไว้คือการแปรงฟัน  สำหรับห่วงแรกเมื่อเด็กมีกำลังพอจะควบคุมนิ้วมือบังคับจับแปรงได้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้แล้วเราจะฝึกให้หมุนแปรงไปมาด้วยสองนิ้วโดยมีอีกสามนิ้วเป็นนิ้วช่วยพยุง  เมื่อหมุนได้คล่องแล้วถัดไปจึงฝึกวงสวิงเพื่อแปรงฟันทางด้านขวา  ทำได้โดยจับแปรงให้ถนัดด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้จากนั้นฝึกการขยับมือขึ้นลง(ให้ข้อมืออยู่นิ่งๆ)  , เลื่อนข้อมือไปทางซ้ายและทางขวา  ขึ้นบนและลงล่าง  , หมุนข้อมือเป็นวงกลมทั้งซ้ายและขวา  เมื่อฝึกวงสวิงเพื่อแปรงฟันด้านขวาแล้วเวลาฝึกแปรงด้านซ้ายให้ฝึกคล้ายกันเพียงแต่เปลี่ยนจากจับแปรงคว่ำมือเป็นหงายมือเพื่อให้แปรงหันไปทางซ้าย
         ห่วงที่สองถ้าเป็นเด็กปกติให้บอกจุดสัมผัสต่างๆ ในช่องปากขณะแปรงฟันได้เลยว่าฟันหน้าจะขยับหัวแปรงอย่างไร  ฟันกรามขยับอย่างไร ซอกฟัน ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านบนของฟัน  การทำความสะอาดลิ้น  ปุ่มเหงือก และส่วนอื่นๆ ในช่องปากเราควรขยับหัวแปรงอย่างไรเพื่อให้ขนแปรงถูกจุดสัมผัส   ในเด็กพิเศษเราควรเพิ่มความเป็นรูปธรรมให้เด็กก่อนโดยให้เขาทดลองใช้แปรงทำความสะอาดสิ่งอื่น (ของเล่นหรือสิ่งของที่มีลักษณะต่างๆ) ในท่าทางที่ได้ฝึกมา  ก่อนการแปรงจริงในช่องปากเพื่อให้เขาเห็นจุดสัมผัสว่าเมื่อเราขยับแปรงอย่างนี้ขนแปรงหันไปอย่างไร และไปสัมผัสกับวัตถุจุดใดบ้าง
               ห่วงที่สามในเรื่องความสะอาดนั้นนอกจากการทำความสะอาดฟันแล้วเราควรดูแลความสะอาดในส่วนของตัวเด็กและสถานที่ที่ใช้แปรงฟันทั้งก่อนการแปรง  ระหว่างแปรง และหลังแปรงฟันให้มีความสะอาดตามที่ควรจะเป็น
               เมื่อตั้งเป้าหมาย  กำหนดสามห่วง  และดำเนินการตามสามห่วงพัฒนาการแล้ว  ความเร็วช้าที่เด็กจะแปรงฟันได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ สองอย่างคือ สติปัญญาของเด็กและโอกาสในการฝึกฝน  ดังนั้นเมื่อเห็นว่าเด็กยังทำไม่ได้หรือทำได้ช้าอย่าเพิ่งต่อว่า  เราควรหาโอกาสให้เขาได้ฝึกฝนเพิ่มเติม  เพราะการว่าเด็กก็เหมือนการว่าตนเอง...

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สามห่วงกับความเอาแต่ใจ (ภาคต่อ)

ารข่มใจ การให้ ขอบเขต ...............
 

 
ภาพประกอบ
 
 
 
           สามห่วงนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อลดความเอาแต่ใจโดยเริ่มจากฝึกการข่มใจเป็นอันดับแรกเพื่อลดความกระวนกระวายในเวลาที่ความต้องการนั้นมีมากจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ (ขณะที่ถูกความต้องการของตนเองนั้นควบคุมมักขาดสติและทำสิ่งต่างๆ ไปด้วยอารมณ์อยากนั้นๆ) เมื่อฝึกจนสามารถข่มใจตนเองได้แล้วสติก็จะกลับมา หยุดคิดพิจารณาหาวิธีการตอบสนองความต้องการด้วยวิธีที่ดีที่สุด หรือถ้าความต้องการนั้นยังไม่สามารถตอบสนองได้ ก็จะบอกกับตนเองได้ว่าต้องรอไปก่อน สิ่งที่เราต้องการยังไม่สามารถทำได้ตอนนี้ เป็นต้น

           หลังฝึกการข่มใจแล้วได้ฝึกฝนในเรื่องของการให้อยู่บ่อยๆ จะทำให้เราสละทิ้งความต้องการได้ง่ายขึ้น ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวน้อยลง อารมณ์แจ่มใสก็เพิ่มขึ้น เมื่ออารมณ์ในด้านบวกมีมากกว่าทำให้เด็กมีความสดชื่นแจ่มใส พร้อมทำสิ่งต่างๆ และก้าวไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์

            ส่วนในห่วงที่สามนั้นเป็นขอบเขตที่ทำให้เรารู้ว่าการข่มใจ และการให้จะพัฒนาอย่างไร และเป็นไปในทิศทางใดจึงได้ผลตามที่เราคาดหวังไว้ เพราะถ้าเราไม่กำหนด บางพฤติกรรมเมื่อเด็กแสดงออกถึงการข่มใจและการให้ เราจะเกิดคำถามว่าลูกเราได้มีการฝึกฝนเรื่องเหล่านี้อยู่บ้างแต่ทำไมถึงยังเอาแต่ใจตนเอง นั้นเป็นเพราะเรามองพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันแล้วเหมาเอาว่าลูกเราก็ทำอย่างนั้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ลูกเราชอบกินขนมเค้กมากเห็นไม่ได้ต้องกิน แต่ไปถามว่าไปกินขนมเค้กกันมั๊ยตอนเขาอิ่มมากแล้ว เขาคงตอบว่าไม่ไป หรือ เมื่อแม่ใช้ให้ลูกเอาของไปให้พ่อ เด็กเดินถือของไปให้ มันก็คือการให้เหมือนกัน แต่อารมณ์ความรู้สึกคงต่างจากการที่เด็กถือขนมที่ชอบกินอยู่ แล้วกำลังจะหยิบชิ้นสุดท้ายเข้าปากแต่มีคนมาขอกิน ซึ่งถ้าเขาให้ อาจอนุมานได้ว่าเขามีจิตใจที่รู้จักการให้แล้ว เป็นต้น
 
 

สามห่วงกับการเรียนตัวอักษร


ออกเสียงได้   จำการเขียนได้   จำเสียงจำตัวอักษร

       

          การพัฒนาเด็กเพื่อให้รู้จักตัวอักษร เราอาจกำหนดสามห่วงพัฒนาการขึ้นมาใช้ได้ตามนี้ คือ ส่งเสริมให้เด็กออกเสียงตัวอักษร ส่งเสริมให้เขียนตัวอักษร และที่สำคัญความจำที่แม่นยำจะทำให้เรียนรู้การอ่านการเขียนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเด็กจำเสียงของตัวอักษรนั้นได้เขาจึงค่อยๆ เลียนเสียงตัวอักษรนั้น จนในที่สุดออกเสียงได้คล่อง
           เมื่อจำรูปตัวอักษร ลักษณะของตัวอักษรได้ เขาจึงค่อยๆ ลากเส้นไปตามทิศทางต่างๆ เป็นตัวอักษร จนในที่สุดสามารถเขียนได้จนคล่องมือ




ภาพประกอบ

 


วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สามห่วงกับความเอาแต่ใจ



การข่มใจ การให้ ขอบเขต
        


          ห่วงแรกการข่มใจ ใครๆก็ทำได้อยู่ที่การฝึกฝนและประสบการณ์ เอาแต่ใจส่วนใหญ่ใช้กับเด็กที่ชอบใช้อารมณ์ อยากได้นั่นนี่แล้วต้องเอาให้ได้ ไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อมหรือคนอื่นๆ ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กทุกคนจะเอาแต่ใจก่อนแล้วค่อยๆเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมจนความเอาแต่ใจลดน้อยลง

          เด็กที่เอาแต่ใจส่วนใหญ่ไม่รู้จักการข่มใจ ไม่รู้จักข่มใจเพราะไม่ได้รับการขัดใจ เด็กที่เกิดมาเขาจะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม ถ้าอยากได้อะไรแล้วสิ่งแวดล้อม (อาจเป็นพ่อแม่หรือบุคคลที่อยู่รอบตัวเขา) ขัดใจจะทำให้รู้สึกทุกข์ใจ คราวหน้าก็จะเรียนรู้ว่าทำอย่างไรที่จะไม่ให้ถูกขัดใจ ต้องคิดหาวิธีการเลี่ยงไปตอบสนองความอยากของตนเอง โดยข่มใจไว้ก่อนแล้วคิดหาวิธีการ ทำอย่างนี้แล้วทำให้เด็กรู้จักคิดมากขึ้นมองไกลขึ้น

          แต่ถ้าอยากได้อะไรแล้วสิ่งแวดล้อมไม่ขัดใจ ตอบสนองให้ความต้องการของเขาง่ายๆ เด็กไม่ต้องคิดหาวิธีการต่างๆ อาจทำให้กลายเป็นคนที่มองอะไรใกล้ๆ คิดสั้นๆ เพราะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมบ่อยๆ ว่า "ทำแค่นี้ก็ได้แล้ว"

          ห่วงที่สองการให้ พ่อแม่บางคนบอกว่าสอนให้เอาของไปให้คนโน้นคนนี้ตั้งมากแล้วหมดไปกับการสอนอย่างนี้แล้วลูกยังไม่รู้จักให้ ไม่รู้ทำไม นั่นเพราะเขายังไม่รู้จักการให้ที่ต้องให้ของที่เป็นของๆ เขา เขารู้จักแต่เอาไปให้เพราะแบ่งไว้ให้แล้วว่า นี่ของลูกนะ นี่สำหรับคนนั้นคนนี้ แต่ถ้าเราให้เป็นของๆ เขาแล้วในขณะที่เขาไม่อยากแบ่งปันเห็นว่าสิ่งๆนั้นเป็นของๆ เขาอยู่ แล้วเขาสามารถแบ่งปันได้ เด็กจะรู้จักการให้ที่ไม่ใช่การเอาไปให้

          ห่วงที่สามขอบเขต
          ขอบเขตของการข่มใจในที่นี้ คือถ้าเกิดความอยากหรือต้องการอะไรแล้วข่มใจไม่ทำตามความอยากหรือความต้องการนั้นได้
          ขอบเขตของการให้ในที่นี้ คือ ต้องให้ในสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นของเขา

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวของลูกรักแบบฉบับสามห่วงพัฒนาการ

 
        ทำความรู้จักกับแนวคิดสามห่วงพัฒนาการให้มากขึ้น ผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราว บอกเล่าความรู้สึก หรือสอบถามแนวทางวิธีการปฏิบัติต่อลูกรักอย่างตรงจุด ผ่านเฟสบุคสามห่วงพัฒนาการ






วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สามห่วงพัฒนาการกับการนำไปใช้

      จากแนวคิดสามห่วงพัฒนาการเรามีสามคำใหญ่ๆ คือ

1 การช่วยเหลือตนเอง
2 การเล่น
3 ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ




          การช่วยเหลือตนเอง ดูว่าเด็กช่วยเหลือตนเองได้ตามวัยหรือไม่ ซึ่งเราหาข้อคำถามได้จากตัวเราเองว่าตอนที่เราอายุเท่าๆ กับลูก เราทำอะไรได้บ้าง เช่น ทานข้าวเอง จับช้อนถูกวิธี ใช้ส้อมคู่กับช้อน อาบน้ำแต่งตัวเอง ใส่กระดุมหน้า ใส่ถุงเท้ารองเท้าเอง เป็นต้น จากนั้นก็นำข้อคำถามเหล่านั้นไปเปรียบเทียบกับเด็กข้างบ้านหรือเพื่อนในวัยเดียวกันมากกว่าสองคนว่าเขาทำได้หรือไม่  การช่วยเหลือตนเองนั้นเป็นสิ่งแรกที่เด็กจะต้องทำให้ได้ก่อนการเล่น (ตามวัย)
          การเล่น เมื่อเด็กช่วยเหลือตนเองได้พอสมควรแล้วเขาจะเหลือเวลาว่างเอาไว้เล่น ช่วงที่เด็กเล่นนี้เขาจะได้พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ คือ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งอยู่ที่ว่าเล่นอะไร เล่นกับใคร มีสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ถ้าเราต้องการส่งเสริมทักษะในด้านต่างๆ เราเพียงสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเท่านั้นแล้วให้เขาลองผิดลองถูกลองแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ จนเกิดความชำนาญ บางครั้งเด็กไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้เราอาจให้คำแนะนำบางอย่างกับเขาว่าลองทำแบบนี้ดูซิ เพียงแค่เพิ่มรูปแบบการแก้ไขปัญหาให้เด็กเขาก็จะได้ทดลองทำดูและมีประสบการณ์มากขึ้น
          ด้านร่างกาย เราดูว่า แขนขาได้ใช้งานเต็มที่หรือไม่ มือและนิ้วมือเคลื่อนไหวคล่องตัวหรือไม่
          ด้านอารมณ์ ให้รู้จักอารมณ์ต่างๆ เช่นอารมณ์สงสัย ดีใจ เสียใจ หงุดหงิด ไม่สบายตัว ชอบ ไม่ชอบ กลัว ขยะแขยง พอใจ ไม่พอใจ ฯลฯ
          ด้านสังคม ให้รู้จักการเล่นคนเดียว เล่นสองคน เล่นสามคน เล่นสี่คน เล่นหลายๆ คน รู้จักเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ รู้จักให้ แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักโกรธ ความขัดแย้งและวิธีการแก้ปัญหา เป็นต้น
          ด้านสติปัญญา ดูเรื่องคำศัพท์ อ่านเขียน คิดคำนวณ การเชื่อมโยง การเปรียบเทียบ ลำดับเหตุการณ์ รูปทรง การแก้ไขปัญหา ซึ่งทักษะด้านนี้ส่วนใหญ่แล้วทางโรงเรียนจะเป็นคนลงรายละเอียดให้อยู่แล้ว อาจดูแค่ว่าเด็กสอบผ่านหรือสอบตก
          ห่วงที่สามที่ต้องดูควบคู่ไปในทุกกิจกรรมที่เด็กทำคือเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งอิงกับสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ เช่น บ้าน โรงเรียน และสังคม ในบ้านพ่อแม่เป็นผู้กำหนดระเบียบต่างๆ ให้กับเด็ก จะหย่อนมากหย่อนน้อยแล้วแต่การให้ความสำคัญ ที่โรงเรียนและในสังคมใหญ่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ อยู่แล้วเราก็ใช้เกณฑ์นั้นมาค่อยๆ สอนกันไปหย่อนมากหย่อนน้อยอยู่ที่ผู้ใหญ่ในสังคมนั้นๆ
          
           หมายเหตุ บางกิจกรรมที่เคยส่งเสริมให้เขาเล่นในบ้านเช่นการอ่านการเขียน เมื่อเด็กโตขึ้นอยู่ในโรงเรียนอาจเป็นสิ่งที่เขาจำเป็นต้องทำให้ได้ กิจกรรมนั้นจะถูกย้ายมาอยู่ในห่วงของการช่วยเหลือตนเองทันที
นี่คือหลักการคร่าวๆ ในการใช้สามห่วงพัฒนาการ



วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

การจดจำเพื่อการอ่าน


เด็กๆ เกิดมาพร้อมกับศักยภาพในการเรียนรู้  สมองที่พัฒนาต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา  เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์ลอยเคว้งอยู่รอประสาทสัมผัสต่างๆ ทำงานจึงค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าหากัน  แตกกิ่งก้านสาขาเชื่อมโยงติดต่อประสานกันแบบอ่อนแรงรอจนได้เรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าการประสานระหว่างเซลล์จึงเริ่มแข็งแรงขึ้น  กระแสประสาทวิ่งไปมาหากันได้เร็วขึ้น  ยิ่งการเชื่อมโยงนั้นมีส่วนแตกแขนงไปหาแหล่งสร้างความสุขด้วยแล้วยิ่งทำให้อยากทำสิ่งนั้นซ้ำๆ
การได้ดู  ได้ฟัง  ได้สัมผัส  ได้ชิม  ได้ดมกลิ่น  สมองจะเริ่มจดจำสิ่งต่างๆ เอาไว้  เป็นภาพบ้าง  เป็นเสียงบ้าง ฯลฯ  พอมีคนมาบอกว่าภาพหรือเสียงนั้นเรียกว่าอะไร  การเชื่อมโยงในสมองก็เพิ่มขึ้น  เมื่อมีคนมาบอกว่าภาพหรือเสียงนั้นทำอย่างนั้นได้ทำอย่างนี้ได้  การเชื่อมโยงก็เพิ่มขึ้นอีก  เพิ่มไปเรื่อยๆ  ยิ่งได้ทำซ้ำการเชื่อมโยงยิ่งแข็งแรง  แต่ในทางกลับกันถ้าไม่ได้ทำซ้ำการเชื่อมโยงจะอ่อนแรงจนบางครั้งขาดการเชื่อมโยงไป 
การจดจำสิ่งของต่างๆ รอบตัวนั้นต้องใช้เวลา  ใช้การดูซ้ำ  การทำซ้ำ  กว่าจะเรียนรู้ว่าโต๊ะเรียกว่าโต๊ะ  เตียงเรียกว่าเตียง  ตู้เรียกว่าตู้  ค่อนข้างใช้เวลา  (ตู้เย็นคงใช้เวลาเรียนรู้ไม่นานนักเพราะมักให้ความสุขกับเรา)  การจดจำพยัญชนะและสระก็เหมือนกัน  พยัญชนะมี 44 ตัว  สระมี 32  รวมกันต้องจดจำถึง 76 อย่าง  กว่าจะเชื่อมโยงจดจำลักษณะ  แยกแยะความแตกต่าง  เรียกชื่อให้ถูก  มีความมั่นใจในการเรียกชื่อต่างๆ  เท่านั้นยังไม่พอต้องจดจำอีกว่าลักษณะของอันนี้มาอยู่กับอันนี้  อันนี้มาอยู่กับสระ  สระมารวมกับพยัญชนะ  ฯลฯ  อ้าว...  ยังมีวรรณยุกต์อีก  จำไม่ไหวไปเล่นดีกว่า 
บางครั้งเด็กๆ ก็ต้องการเวลา  การเร่งโดยมองข้ามบางสิ่งบางอย่างไปเราอาจสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไปเช่นกัน
 

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หนูไม่ได้อยากเป็นเด็กมีปัญหานะ!


          ที่บ้านของหนูน่ะสุขสบายมากเลย  พี่เลี้ยงก็ใจดีตามใจหนูแล้วก็ทำให้หนูทุกอย่าง  ทั้งป้อนข้าว  ทำอาหารอร่อยๆ  หนูทำหกเลอะเทอะก็เช็ดให้  บางครั้งก็เล่นดีดเม็ดข้าวกันกับหนูซึ่งหนูชอบมากเลย  เวลาตัวสกปรกพี่เลี้ยงของหนูก็คอยทำความสะอาดให้  อาบน้ำให้  แต่งตัวให้  หนูไม่ชอบอย่างเดียวคือต้องยืนกางแขนไว้สูงๆ  เพราะพี่เลี้ยงบอกว่าเป็นท่าเตรียมพร้อมก่อนออกไปเที่ยว  จริงๆ เวลาแต่งตัวหนูอยากนอนมากกว่าแต่ยืนแต่งตัวก็ได้ไม่เมื่อยมากเท่าไหร่เพราะพี่เลี้ยงหนูเป็นคนเก่งมากๆ  ให้หนูยืนกางแขนแป้บเดียว  เสื้อผ้าก็มาอยู่บนตัวเรียบร้อย  เวลาไปเที่ยวบางครั้งหนูก็ชอบเดินเองเหมือนกันนะ  แต่อุ้มก็ดีเหมือนกัน  พี่เลี้ยงบอกว่ากลัวหนูจะหกล้มเจ็บขาต้องทายาไม่อยากเห็นหนูร้องไห้  แล้วบางทีก็สกปรกด้วยมีเชื้อโรคเต็มไปหมด  หนูก็เห็นด้วยนะ  บางทีสกปรกจริงๆ ไม่กล้าเดินเลย  เห็นไหมว่าพี่เลี้ยงของหนูใจดีแค่ไหน  หนูอยู่บ้านมีความสุขมากๆ  เลย  แต่ที่โรงเรียนทั้งๆ ที่ของเล่นเต็มไปหมด  แต่หนูไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่
                อยู่โรงเรียนมีแต่คนบอกว่าหนูเป็นเด็กมีปัญหา?  ไม่จริงซะหน่อย...  ก็เพื่อนชอบวิ่งเร็วเองหนูวิ่งตามไม่ทัน  เวลาเข้าห้องน้ำเพื่อนก็ชอบล้อว่าเป็นเด็กอนุบาลล้างก้นเองไม่ได้ต้องให้ครูล้างให้  กินข้าวคุณครูก็ว่า  ว่าชอบอมข้าวไม่ยอมตักกินเองต้องให้คอยป้อนอยู่ตลอด  เวลาเรียนครูก็ชอบว่าว่าไม่ตั้งใจเรียนนั่งอยู่กับที่ไม่ได้  ชอบเดินไปเดินมา  แหม  ก็ครูสอนอะไรก็ไม่รู้น่าเบื่อจะตายหนูเลยเดินไปหาอะไรเล่นไง  ครูจะได้ไม่ต้องสอนหนู  หนูก็เล่นของหนูเองดีจะตายไป  สนุกด้วย  หนูคิดให้ครูด้วยนะเนี่ย  แล้วยังมาว่าหนูว่าเป็นเด็กมีปัญหาอีก  คุณครูเนี่ยไม่ได้เรื่องเลย  หนูไม่ได้อยากเป็นเด็กมีปัญหาซักหน่อย  ทำไมทุกคนต้องว่าหนูมีปัญหาด้วยทั้งๆ ที่หนูเพิ่ง 7 ขวบเอง แล้วหนูก็ยังเป็นเด็กอยู่ด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นามธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ถ้าเราเข้าใจแล้วมันจะช่วยนำไปสู่การเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น


นามธรรมเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิด  เป็นเรื่องของจิตใจ  ละเอียดอ่อนและเข้าใจยาก  แต่เรื่องทุกเรื่องก็มีวิธีการทำความเข้าใจเพียงเรารู้ลำดับพัฒนาการของเรื่องต่างๆ  ที่มาที่ไป  รู้เหตุผลของมัน  เราก็จะเข้าใจมันได้...ซักวัน

               "รูปธรรมเป็นสิ่งที่เห็นได้  สัมผัสได้  มีรูปทรงสีสันต่างๆ ให้มองให้ดู"

                รูปธรรมและนามธรรมมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่  ยกตัวอย่าง เช่น  เขียนจดหมายถึงกัน เรียกว่า รัก  มาให้เห็นทุกวัน เรียกว่า รัก  ทำกับข้าวให้กิน เรียกว่า รัก  กอด เรียกว่า รัก  ผลัก เรียกว่า โกรธ  โหด คือ การทำหลายๆ อย่างในปริมาณมากกว่าปกติ 
          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่านามธรรมคือนิยามของรูปธรรมนั่นเอง  ซึ่งอาจไม่เหมือนกันในแต่ละคน  แต่ละบ้าน  แต่ละสังคม  นิยามรักสำหรับบางคนอาจหมายถึงการพูดมากๆ  ทำสิ่งต่างๆ ให้กันและกัน  แต่กับบางคนอาจหมายถึงการพูดน้อยๆ  แสดงออกแต่พองาม  ซึ่งก็มีความแตกต่างกันออกไป

                แนวคิด 3 ห่วงพัฒนาการก็มีลักษณะเป็นนามธรรม  การเล่น  การช่วยเหลือตนเอง  ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ  สามคำนี้ล้วนได้รับคำนิยามต่างกันออกไปตามระดับอายุ  ความสามารถ  บทบาทและหน้าที่ของบุคคลขณะอยู่ในสังคม  เพราะบุคคลจะถูกคาดหวังจากคนรอบข้างและตนเองว่าเขาควรมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบในเรื่องใดบ้าง  ควรช่วยเหลือตนเองอย่างไรได้บ้าง  ควรเล่นเวลาไหน  เล่นอะไรและเล่นอย่างไร  ทั้งหมดนี้เป็นนิยามจากความคาดหวังในสังคมนั้นๆ  ว่าบุคคลหนึ่งๆ ควรทำอะไร  ควรเป็นอย่างไร 
              ดังนั้นเมื่อเราต้องการใช้แนวคิด 3 ห่วงพัฒนาการเพื่อการพัฒนาใครซักคนเราอาจดูอายุของบุคคลนั้นเป็นอันดับแรก  จากนั้นดูว่าสังคมที่เขาอยู่มีความคาดหวังอย่างไรกับบุคคลอายุเท่านี้  ดูความคาดหวังจากคนรอบข้าง  ดูความคาดหวังของบุคคลนั้นเอง  แล้วจึงกำหนดสิ่งที่ต้องการพัฒนา  เมื่อเราได้เป้าหมายที่จะพัฒนาแล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้น

                        เพราะ...  “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน”  5555...

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตอบปัญหาเด็กไม่พูด


คำถาม  :  เด็กไม่พูดกับครู  พูดกับเพื่อนบ้างบางครั้ง  ส่วนใหญ่ชอบนั่งเฉยๆ ทำไงดี

รายละเอียดเด็ก  :  เด็กผู้หญิง  ผิวขาวหน้าตาน่ารัก  เรียนอยู่อนุบาล

การวิเคราะห์ข้อมูล :  ความกังวลตอนนี้อาจอยู่ที่การไม่พูดกับครู แต่ร่วมทำกิจกรรมทุกอย่าง พูดน้อยและชอบนั่งเฉยๆ  ซึ่งตามหลักแล้วเป็นปัญหาในระดับบุคลิกภาพ  การไม่พูด พูดน้อย หรือชอบนั่งเฉยๆ นั้น     เนื่องมาจากเขาไม่มีความสนใจในสิ่งเหล่านี้  สิ่งเร้าต่างๆ อาจไม่โดนใจหรือมีปริมาณไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความสนใจ  และเป็นไปได้ว่าเด็กคนนี้อารมณ์อยากรู้อยากเห็นน้อยหรือมีความสนใจไม่เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ถ้าเราเห็นว่าบุคลิกเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาและต้องการแก้ไข  เราอาจย้อนไปดูก่อนว่าการช่วยเหลือตนเองของเด็กคนนี้เป็นอย่างไร คือ
1 การทำความสะอาดร่างกาย (อึ ฉี่ อาบน้ำ)
2 การแต่งตัว (เสื้อ กางเกง กระโปรง  รองเท้า)
3 การรับประทานอาหาร (การใช้ช้อนส้อม)
4 งานหรือการบ้านต่างๆ ที่โรงเรียน ใน 4 อย่างนี้ดูว่าเด็กทำได้เหมือนกันกับเพื่อนหรือไม่ เช่น ถ้าเพื่อนส่วนใหญ่ใส่รองเท้าเองได้แล้ว  เขาก็ควรจะใส่รองเท้าเองได้แล้ว  แต่ถ้ายังใส่เองไม่ได้อาจเรียกว่าเป็นปัญหาซ้ำซ้อนคือมีปัญหาหลักในส่วนของการช่วยเหลือตนเองและมีปัญหารองในเรื่องบุคลิกภาพ 
          ถ้าต้องการแก้ปัญหาควรตรวจดูทั้ง 4 ข้อในส่วนของการช่วยเหลือตนเองก่อนว่ามีข้อใดยังเป็นปัญหาอยู่หรือไม่แล้วการแก้ไขปัญหาในส่วนของบุคลิกภาพจะทำได้ง่ายขึ้น

แนวทางการจัดการ
          ให้ตรวจดูก่อนว่าในส่วนของการช่วยเหลือตนเองทั้ง 4 ข้อข้างต้นมีปัญหาข้อใดบ้างให้แก้ไขตรงนี้ก่อน  หลังจากนั้นค่อยชี้ให้เห็นความสนุกของการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเริ่มจาก

     1 การเล่นของเล่นต่างๆ (เล่นคนเดียว)
     2 การเล่นกับเพื่อนอีกคน
     3 การเล่นเป็นกลุ่มตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป

     เมื่อเขาเล่นอย่างสนุกสนานปฏิสัมพันธ์ก็จะเกิด  การพูดคุยจะตามมา และเมื่อเขาไปเจอสิ่งที่เขาอยากเล่นแต่เล่นไม่เป็นคุณครูจะเข้ามามีบทบาท  เมื่อครูกับศิษย์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การพูดคุยจะค่อยๆ เริ่มขึ้น

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พัฒนาการไม่มียากินถ้าอยากได้ต้อง...


         เด็กที่มีพัฒนาการบางด้านไม่สมวัยมักมีลักษณะบางอย่างไม่เหมือนเพื่อนในวัยเดียวกัน  จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความกังวลใจจนต้องพาไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาปัญหา  เมื่อกลับมาบ้านก็ดีใจเพราะได้รับการรักษาโดยการให้ยามาแล้ว แต่การบ้านนี่ซิ... ให้มาทำไมก็ไม่รู้ที่โรงเรียนก็มีมากจนทำไม่ไหวอยู่แล้ว 
          หมอให้การบ้านมาทำไม?  กินแต่ยาดีกว่าคงจะหายเหมือนกัน  ผลที่เกิดขึ้น จึงเป็นเช่นนี้
                - 1 อาทิตย์ผ่านไป = อาการไม่ดีขึ้น 
               - 2 อาทิตย์ครบกำหนดไปหาคุณหมออีกครั้ง = อาการไม่ดีขึ้น  กลับไปหาคุณหมอพร้อมปัญหาเดิมได้ยากับการบ้านเหมือนเดิม
               - อีก 2 อาทิตย์กลับไปหาคุณหมอ คราวนี้ทำทั้งการบ้านและทานยาตามกำหนดคุณหมอสั่ง  ยังไม่ทันถึงอาทิตย์ = อาการดีขึ้น (เลยหยุดทำการบ้านทานแต่ยาอย่างเดียว)
               - อีก 2 อาทิตย์ ไปหาคุณหมอก็บอกว่าลูกดีขึ้นหลังจากกลับไปแล้วทำการบ้านทานยา  แต่พอทานยาอย่างเดียวไม่ได้ทำการบ้านต่อ = อาการกลับมาไม่ดีขึ้น  คุณหมอก็ให้ยากับการบ้านเหมือนเดิม 
              - อีก 2 อาทิตย์กลับไปหาคุณหมอ คราวนี้ทั้งทำการบ้านทั้งทานยาครบตามคุณหมอสั่งทุกอย่าง  = อาการดีขึ้นเรื่อยๆ
              - อีก 2 อาทิตย์ ถึงกำหนดไปพบคุณหมอ  คราวนี้คุณหมอให้แต่การบ้านมาบอกว่ายาไม่ต้องแล้ว  กลับมาก็ทำการบ้านตามคุณหมอสั่งทุกอย่าง 
           และเมื่อถึงคิวนัดอีกครั้งเมื่อไปพบคุณหมอ............อาการต่างๆ ก็หายไปจนหมด