วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สามห่วงพัฒนาการกับการนำไปใช้

      จากแนวคิดสามห่วงพัฒนาการเรามีสามคำใหญ่ๆ คือ

1 การช่วยเหลือตนเอง
2 การเล่น
3 ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ




          การช่วยเหลือตนเอง ดูว่าเด็กช่วยเหลือตนเองได้ตามวัยหรือไม่ ซึ่งเราหาข้อคำถามได้จากตัวเราเองว่าตอนที่เราอายุเท่าๆ กับลูก เราทำอะไรได้บ้าง เช่น ทานข้าวเอง จับช้อนถูกวิธี ใช้ส้อมคู่กับช้อน อาบน้ำแต่งตัวเอง ใส่กระดุมหน้า ใส่ถุงเท้ารองเท้าเอง เป็นต้น จากนั้นก็นำข้อคำถามเหล่านั้นไปเปรียบเทียบกับเด็กข้างบ้านหรือเพื่อนในวัยเดียวกันมากกว่าสองคนว่าเขาทำได้หรือไม่  การช่วยเหลือตนเองนั้นเป็นสิ่งแรกที่เด็กจะต้องทำให้ได้ก่อนการเล่น (ตามวัย)
          การเล่น เมื่อเด็กช่วยเหลือตนเองได้พอสมควรแล้วเขาจะเหลือเวลาว่างเอาไว้เล่น ช่วงที่เด็กเล่นนี้เขาจะได้พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ คือ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งอยู่ที่ว่าเล่นอะไร เล่นกับใคร มีสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ถ้าเราต้องการส่งเสริมทักษะในด้านต่างๆ เราเพียงสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเท่านั้นแล้วให้เขาลองผิดลองถูกลองแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ จนเกิดความชำนาญ บางครั้งเด็กไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้เราอาจให้คำแนะนำบางอย่างกับเขาว่าลองทำแบบนี้ดูซิ เพียงแค่เพิ่มรูปแบบการแก้ไขปัญหาให้เด็กเขาก็จะได้ทดลองทำดูและมีประสบการณ์มากขึ้น
          ด้านร่างกาย เราดูว่า แขนขาได้ใช้งานเต็มที่หรือไม่ มือและนิ้วมือเคลื่อนไหวคล่องตัวหรือไม่
          ด้านอารมณ์ ให้รู้จักอารมณ์ต่างๆ เช่นอารมณ์สงสัย ดีใจ เสียใจ หงุดหงิด ไม่สบายตัว ชอบ ไม่ชอบ กลัว ขยะแขยง พอใจ ไม่พอใจ ฯลฯ
          ด้านสังคม ให้รู้จักการเล่นคนเดียว เล่นสองคน เล่นสามคน เล่นสี่คน เล่นหลายๆ คน รู้จักเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ รู้จักให้ แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักโกรธ ความขัดแย้งและวิธีการแก้ปัญหา เป็นต้น
          ด้านสติปัญญา ดูเรื่องคำศัพท์ อ่านเขียน คิดคำนวณ การเชื่อมโยง การเปรียบเทียบ ลำดับเหตุการณ์ รูปทรง การแก้ไขปัญหา ซึ่งทักษะด้านนี้ส่วนใหญ่แล้วทางโรงเรียนจะเป็นคนลงรายละเอียดให้อยู่แล้ว อาจดูแค่ว่าเด็กสอบผ่านหรือสอบตก
          ห่วงที่สามที่ต้องดูควบคู่ไปในทุกกิจกรรมที่เด็กทำคือเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งอิงกับสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ เช่น บ้าน โรงเรียน และสังคม ในบ้านพ่อแม่เป็นผู้กำหนดระเบียบต่างๆ ให้กับเด็ก จะหย่อนมากหย่อนน้อยแล้วแต่การให้ความสำคัญ ที่โรงเรียนและในสังคมใหญ่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ อยู่แล้วเราก็ใช้เกณฑ์นั้นมาค่อยๆ สอนกันไปหย่อนมากหย่อนน้อยอยู่ที่ผู้ใหญ่ในสังคมนั้นๆ
          
           หมายเหตุ บางกิจกรรมที่เคยส่งเสริมให้เขาเล่นในบ้านเช่นการอ่านการเขียน เมื่อเด็กโตขึ้นอยู่ในโรงเรียนอาจเป็นสิ่งที่เขาจำเป็นต้องทำให้ได้ กิจกรรมนั้นจะถูกย้ายมาอยู่ในห่วงของการช่วยเหลือตนเองทันที
นี่คือหลักการคร่าวๆ ในการใช้สามห่วงพัฒนาการ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น