วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เป้าหมาย "การแปรงฟัน"

เมื่อได้เป้าหมายแล้ว  จากนั้นจึงทำการกำหนดสามห่วงพัฒนาการขึ้นมาว่ามีสิ่งใดบ้างที่จำเป็นและสำคัญสำหรับการแปรงฟันซึ่งในที่นี้เราจะกำหนดสามห่วงขึ้นมาดังนี้คือ  ควบคุมแปรง  จุดสัมผัส ความสะอาด
ควบคุมแปรง คือการใช้ร่างกาย (มือ) บังคับควบคุมแปรงสีฟันให้ได้อย่างใจคิด
จุดสัมผัส คือ จุดที่สัมผัสระหว่างหัวแปรงกับฟัน
ความสะอาดคือ การควบคุมแปรงสีฟันไปในทิศทางต่างๆ ให้หัวแปรงถูกจุดสัมผัสที่กำหนดเพื่อทำความสะอาด
          ต่อมาจึงนำสามห่วงที่กำหนดขึ้นมานำไปทำการพัฒนาตามเป้าหมายที่วางเอาไว้คือการแปรงฟัน  สำหรับห่วงแรกเมื่อเด็กมีกำลังพอจะควบคุมนิ้วมือบังคับจับแปรงได้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้แล้วเราจะฝึกให้หมุนแปรงไปมาด้วยสองนิ้วโดยมีอีกสามนิ้วเป็นนิ้วช่วยพยุง  เมื่อหมุนได้คล่องแล้วถัดไปจึงฝึกวงสวิงเพื่อแปรงฟันทางด้านขวา  ทำได้โดยจับแปรงให้ถนัดด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้จากนั้นฝึกการขยับมือขึ้นลง(ให้ข้อมืออยู่นิ่งๆ)  , เลื่อนข้อมือไปทางซ้ายและทางขวา  ขึ้นบนและลงล่าง  , หมุนข้อมือเป็นวงกลมทั้งซ้ายและขวา  เมื่อฝึกวงสวิงเพื่อแปรงฟันด้านขวาแล้วเวลาฝึกแปรงด้านซ้ายให้ฝึกคล้ายกันเพียงแต่เปลี่ยนจากจับแปรงคว่ำมือเป็นหงายมือเพื่อให้แปรงหันไปทางซ้าย
         ห่วงที่สองถ้าเป็นเด็กปกติให้บอกจุดสัมผัสต่างๆ ในช่องปากขณะแปรงฟันได้เลยว่าฟันหน้าจะขยับหัวแปรงอย่างไร  ฟันกรามขยับอย่างไร ซอกฟัน ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านบนของฟัน  การทำความสะอาดลิ้น  ปุ่มเหงือก และส่วนอื่นๆ ในช่องปากเราควรขยับหัวแปรงอย่างไรเพื่อให้ขนแปรงถูกจุดสัมผัส   ในเด็กพิเศษเราควรเพิ่มความเป็นรูปธรรมให้เด็กก่อนโดยให้เขาทดลองใช้แปรงทำความสะอาดสิ่งอื่น (ของเล่นหรือสิ่งของที่มีลักษณะต่างๆ) ในท่าทางที่ได้ฝึกมา  ก่อนการแปรงจริงในช่องปากเพื่อให้เขาเห็นจุดสัมผัสว่าเมื่อเราขยับแปรงอย่างนี้ขนแปรงหันไปอย่างไร และไปสัมผัสกับวัตถุจุดใดบ้าง
               ห่วงที่สามในเรื่องความสะอาดนั้นนอกจากการทำความสะอาดฟันแล้วเราควรดูแลความสะอาดในส่วนของตัวเด็กและสถานที่ที่ใช้แปรงฟันทั้งก่อนการแปรง  ระหว่างแปรง และหลังแปรงฟันให้มีความสะอาดตามที่ควรจะเป็น
               เมื่อตั้งเป้าหมาย  กำหนดสามห่วง  และดำเนินการตามสามห่วงพัฒนาการแล้ว  ความเร็วช้าที่เด็กจะแปรงฟันได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ สองอย่างคือ สติปัญญาของเด็กและโอกาสในการฝึกฝน  ดังนั้นเมื่อเห็นว่าเด็กยังทำไม่ได้หรือทำได้ช้าอย่าเพิ่งต่อว่า  เราควรหาโอกาสให้เขาได้ฝึกฝนเพิ่มเติม  เพราะการว่าเด็กก็เหมือนการว่าตนเอง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น