การข่มใจ การให้ ขอบเขต ...............
สามห่วงนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อลดความเอาแต่ใจโดยเริ่มจากฝึกการข่มใจเป็นอันดับแรกเพื่อลดความกระวนกระวายในเวลาที่ความต้องการนั้นมีมากจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ (ขณะที่ถูกความต้องการของตนเองนั้นควบคุมมักขาดสติและทำสิ่งต่างๆ ไปด้วยอารมณ์อยากนั้นๆ) เมื่อฝึกจนสามารถข่มใจตนเองได้แล้วสติก็จะกลับมา หยุดคิดพิจารณาหาวิธีการตอบสนองความต้องการด้วยวิธีที่ดีที่สุด หรือถ้าความต้องการนั้นยังไม่สามารถตอบสนองได้ ก็จะบอกกับตนเองได้ว่าต้องรอไปก่อน สิ่งที่เราต้องการยังไม่สามารถทำได้ตอนนี้ เป็นต้น
หลังฝึกการข่มใจแล้วได้ฝึกฝนในเรื่องของการให้อยู่บ่อยๆ จะทำให้เราสละทิ้งความต้องการได้ง่ายขึ้น ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวน้อยลง อารมณ์แจ่มใสก็เพิ่มขึ้น เมื่ออารมณ์ในด้านบวกมีมากกว่าทำให้เด็กมีความสดชื่นแจ่มใส พร้อมทำสิ่งต่างๆ และก้าวไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์
ส่วนในห่วงที่สามนั้นเป็นขอบเขตที่ทำให้เรารู้ว่าการข่มใจ และการให้จะพัฒนาอย่างไร และเป็นไปในทิศทางใดจึงได้ผลตามที่เราคาดหวังไว้ เพราะถ้าเราไม่กำหนด บางพฤติกรรมเมื่อเด็กแสดงออกถึงการข่มใจและการให้ เราจะเกิดคำถามว่าลูกเราได้มีการฝึกฝนเรื่องเหล่านี้อยู่บ้างแต่ทำไมถึงยังเอาแต่ใจตนเอง นั้นเป็นเพราะเรามองพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันแล้วเหมาเอาว่าลูกเราก็ทำอย่างนั้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ลูกเราชอบกินขนมเค้กมากเห็นไม่ได้ต้องกิน แต่ไปถามว่าไปกินขนมเค้กกันมั๊ยตอนเขาอิ่มมากแล้ว เขาคงตอบว่าไม่ไป หรือ เมื่อแม่ใช้ให้ลูกเอาของไปให้พ่อ เด็กเดินถือของไปให้ มันก็คือการให้เหมือนกัน แต่อารมณ์ความรู้สึกคงต่างจากการที่เด็กถือขนมที่ชอบกินอยู่ แล้วกำลังจะหยิบชิ้นสุดท้ายเข้าปากแต่มีคนมาขอกิน ซึ่งถ้าเขาให้ อาจอนุมานได้ว่าเขามีจิตใจที่รู้จักการให้แล้ว เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น