วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

การจดจำเพื่อการอ่าน


เด็กๆ เกิดมาพร้อมกับศักยภาพในการเรียนรู้  สมองที่พัฒนาต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา  เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์ลอยเคว้งอยู่รอประสาทสัมผัสต่างๆ ทำงานจึงค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าหากัน  แตกกิ่งก้านสาขาเชื่อมโยงติดต่อประสานกันแบบอ่อนแรงรอจนได้เรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าการประสานระหว่างเซลล์จึงเริ่มแข็งแรงขึ้น  กระแสประสาทวิ่งไปมาหากันได้เร็วขึ้น  ยิ่งการเชื่อมโยงนั้นมีส่วนแตกแขนงไปหาแหล่งสร้างความสุขด้วยแล้วยิ่งทำให้อยากทำสิ่งนั้นซ้ำๆ
การได้ดู  ได้ฟัง  ได้สัมผัส  ได้ชิม  ได้ดมกลิ่น  สมองจะเริ่มจดจำสิ่งต่างๆ เอาไว้  เป็นภาพบ้าง  เป็นเสียงบ้าง ฯลฯ  พอมีคนมาบอกว่าภาพหรือเสียงนั้นเรียกว่าอะไร  การเชื่อมโยงในสมองก็เพิ่มขึ้น  เมื่อมีคนมาบอกว่าภาพหรือเสียงนั้นทำอย่างนั้นได้ทำอย่างนี้ได้  การเชื่อมโยงก็เพิ่มขึ้นอีก  เพิ่มไปเรื่อยๆ  ยิ่งได้ทำซ้ำการเชื่อมโยงยิ่งแข็งแรง  แต่ในทางกลับกันถ้าไม่ได้ทำซ้ำการเชื่อมโยงจะอ่อนแรงจนบางครั้งขาดการเชื่อมโยงไป 
การจดจำสิ่งของต่างๆ รอบตัวนั้นต้องใช้เวลา  ใช้การดูซ้ำ  การทำซ้ำ  กว่าจะเรียนรู้ว่าโต๊ะเรียกว่าโต๊ะ  เตียงเรียกว่าเตียง  ตู้เรียกว่าตู้  ค่อนข้างใช้เวลา  (ตู้เย็นคงใช้เวลาเรียนรู้ไม่นานนักเพราะมักให้ความสุขกับเรา)  การจดจำพยัญชนะและสระก็เหมือนกัน  พยัญชนะมี 44 ตัว  สระมี 32  รวมกันต้องจดจำถึง 76 อย่าง  กว่าจะเชื่อมโยงจดจำลักษณะ  แยกแยะความแตกต่าง  เรียกชื่อให้ถูก  มีความมั่นใจในการเรียกชื่อต่างๆ  เท่านั้นยังไม่พอต้องจดจำอีกว่าลักษณะของอันนี้มาอยู่กับอันนี้  อันนี้มาอยู่กับสระ  สระมารวมกับพยัญชนะ  ฯลฯ  อ้าว...  ยังมีวรรณยุกต์อีก  จำไม่ไหวไปเล่นดีกว่า 
บางครั้งเด็กๆ ก็ต้องการเวลา  การเร่งโดยมองข้ามบางสิ่งบางอย่างไปเราอาจสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไปเช่นกัน
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น