วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จินตนาการใน dot

ในสามห่วงพัฒนาการนั้น  เด็กที่ติดอยู่ในห่วงของ การช่วยเหลือตนเอง ส่วนมากมักจะเป็นเด็กพิเศษ  แต่เด็กที่หลุดจากห่วงของการช่วยเหลือตนเองแล้วมาติดอยู่ในห่วงของ การเล่น ส่วนใหญ่คือเด็กอัจฉริยะ  (ในทางวิชาการก็เรียกเด็กพิเศษเหมือนกันแต่โดยนัยแล้วต่างกันคนละขั้วเลย)
การเล่นอย่างหนึ่งของเด็กอัจฉริยะคือการใช้จินตนาการ  มีเรื่องราว  มีรูปแบบความคิดที่สร้างความแตกต่าง  ทั้งนี้เจ้าตัวไม่รู้เลยว่าการที่เขาคิดเช่นนั้นทำให้สมองของเขาพัฒนาและมีศักยภาพมากกว่าเด็กคนอื่นๆ  นานวันเข้าความชำนาญในรูปแบบความคิดนั้นๆ  จึงเพิ่มพูนขึ้น  เมื่อโอกาสมาถึงทุกคนรอบตัวเขาจึงรู้ว่าเขาเป็นเด็กไม่ธรรมดา
การใช้จินตนาการหรือรูปแบบความคิดอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือการคิดแบบ dot ซึ่งเป็นรูปแบบความคิดที่จำลองมาจากภาพการเจริญเติบโตของสมองเด็กแรกเกิดจนถึงห้าขวบ  โดยแนวคิดที่ว่า  เซลล์ประสาทเป็นจุดหลายๆ จุดในสมอง  เมื่อแรกเริ่มนั้นต่างคนต่างลอยตัวอยู่ในช่องว่าง(หัวกะโหลก)จนกระทั่งมีความคิดแรกเกิดขึ้น  การเชื่อมโยงจึงเริ่มเกิดขึ้นจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งและจุดต่อๆ ไปตามเรื่องราวต่างๆ  ที่ได้รับรู้  จุดไหนเรื่องไหนใช้บ่อยก็เกิดความจำและความชำนาญ  ใช้บ่อยและใช้เชื่อมโยงกับจุดอื่นๆ ก็เกิดความรอบรู้  การคิดแบบ dot จึงเสมือนการมองไปที่จุดเริ่มต้นและค่อยๆ สร้างรูปร่าง  รูปแบบ หรือเรื่องราวจากการเชื่อมโยงกันของ dot
รูปแบบพื้นฐานของ dot สองมิติ
ตัวอย่างการใช้งาน dot เช่น การวาดรูป  การสร้างโมเดล  การท่องสูตรคูณ  ฯลฯ

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เมื่อมีความผิดปกติทางพฤติกรรม

เมื่อเกิดความผิดปกติทางพฤติกรรม  ตรวจสอบร่างกายแล้วปกติดีทุกส่วนทั้งด้านกล้ามเนื่อส่วนต่างๆ  สมองส่วนต่างๆ  การตอบสนอง  การทำงานของระบบในร่างกายต่างๆ ล้วนทำงานได้ปกติหรือใกล้เคียงกับปกติซึ่งวิเคราะห์แล้วไม่น่าใช่สาเหตุหลักของการมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ  แล้วอะไรเล่าที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางพฤติกรรม  อะไรเล่าที่ทำให้บุคคลหนึ่งมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากพฤติกรรมที่บุคคลทั่วไปแสดงออก
          มีคนพูดไว้ว่าชีวิตประกอบไปด้วยร่างกายและจิตใจ  งั้นสาเหตุหลักคงมาจากจิตใจ  และจะทำอย่างไรดีในเมื่อจิตใจเห็นไม่ได้  กระทบไม่ได้  สัมผัสจับต้องไม่ได้  เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังพยายามพิสูจน์กันอยู่แต่ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า  จิตใจมีหน้าตาอย่างไร  เมื่อเดาเอาว่าสาเหตุที่บุคคลมีความผิดปกติทางพฤติกรรมมาจากจิตใจแล้ว  แต่ไม่รู้ว่าจิตใจมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร  หากต้องการแก้ไขความผิดปกติดังกล่าวที่เกิดขึ้นก็คงเป็นวิธีการแก้ไขที่เกิดจากการเดาๆ เอาเช่นกัน
          ผู้คนต่างแสวงหากันมานานแสนนานว่าจิตใจนั้นคืออะไร  หลายคนได้คำตอบ  แต่จะมีซักกี่คนที่สามารถบอกได้ว่า "รู้ชัด" จิตใจ

วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความเป็นพ่อแม่


การเป็นพ่อเป็นแม่นั้นถ้าเราแบ่งออกเป็นสองความหมายอาจแบ่งได้ว่า พ่อแม่ที่ให้กำเนิด กับ พ่อแม่ที่ให้การเลี้ยงดู  การเป็นพ่อแม่ที่ให้กำเนิดนั้นเด็กทุกคนที่เกิดมาย่อมมีพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดอยู่แล้วและส่วนมากก็จะเป็นพ่อแม่ที่ให้การเลี้ยงดูด้วย  แต่ในเด็กอีกหลายคนก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น  พ่อแม่บางคนไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดู...
แล้วถ้าเรามีความพร้อมในการเลี้ยงดู  เราควรทำอย่างไร?
ในที่นี้  ขอแนะนำว่าให้เลี้ยงดูตามความพร้อมที่เรามีโดยให้เลี้ยงดูส่งเสริมในสองด้านคือ  กำลังกายและกำลังสติปัญญา  กำลังกายเราอาจให้การกินการอยู่ที่ดีกับเขา  ให้สิ่งแวดล้อมที่ดี  ให้กิจกรรมที่ส่งเสริมความเจริญทางร่างกาย  คอยเฝ้ามองเห็นการเจริญเติบโตของเขา  แล้วการส่งเสริมกำลังสติปัญญาล่ะ!
ยากนะ  การส่งเสริมกำลังสติปัญญาเพราะเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันออกไป  บางคนสอนอะไรก็ทำอย่างนั้น  บางคนสอนอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง  บางคนสอนไปเข้าใจทั้งหมด  บางคนสอนไปเข้าใจบางส่วน  บางคนมีความพยายาม  บางคนไม่มีความพยายาม  บางคนไม่ให้ความสนใจ  บางคนสนใจแต่ไม่เข้าใจ ฯลฯ  มากมายหลายกรณีจนเป็นที่ปวดหัวของผู้สอน  จึงมีคนบอกไว้ว่า "เราได้แต่สอน(ได้แต่บอก)"  เมื่อบอกแล้วเขาจะคิดจะทำอย่างไรขึ้นอยู่ที่เขา  การส่งเสริมกำลังสติปัญญาจึงเป็นเรื่องยากและไม่มีตัววัดที่ชัดเจนเพราะถึงแม้เราจะพยายามส่งเสริมเขาในทุกๆ ด้าน  ทุกๆ แง่มุมแล้วกำลังสติปัญญาก็ไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นเหมือนกับส่วนสูงและน้ำหนัก 
               ในอดีตเมื่อนานมาแล้ว  ด้วยความยาก  พ่อแม่ที่ให้กำเนิดเกรงว่าตนเองจะส่งเสริมกำลังสติปัญญาให้กับลูกได้ไม่ดีจึงมักนำไปฝากไว้กับครูหรืออาจารย์ที่มีชื่อเสียง  ฝากให้อยู่ให้กินที่บ้านของอาจารย์กันเลยทีเดียว  เมื่อลูกศิษย์ได้เรียนรู้ผ่านการซึมซับทั้งกลางวันกลางคืน  ได้เห็นการกระทำของอาจารย์  ได้รับฟังคำสอน  แง่คิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ทั้งที่เห็นได้สัมผัสได้  และสิ่งที่เห็นไม่ได้สัมผัสไม่ได้  นานวันเข้ากำลังสติปัญญาของผู้เป็นอาจารย์จึงถูกถ่ายทอดมายังลูกศิษย์  การสอนยังไม่จบเพียงเท่านั้น  ศิษย์มีความคิดความอ่านพอสมควรแก่การเรียนรู้โลกกว้างแล้ว  อาจารย์จะบอกว่า "เจ้าจงไป  จงนำวิชาความรู้ที่เจ้ามีไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น"  ลูกศิษย์ที่นำความรู้ไปใช้จึงได้เรียนรู้สิ่งที่อาจารย์ต้องการจะสอน 

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ประเมินอารมณ์ก่อนการเรียนรู้


ตรวจสอบสภาพร่างกายก่อนเป็นอันดับแรกว่ามีความพร้อมที่จะเล่นสนุกได้มากแค่ไหน  ชวนกันมาขยับเขยื้อนร่างกายให้กระฉับกระเฉง  มีจังหวะทั้งช้าและเร็ว  ก็จะประเมินได้ว่าเด็กมีอารมณ์ที่จะเล่นเพื่อการเรียนรู้หรือไม่  เพราะถ้าเด็กทำตามทุกอย่างก็หมายความว่าเขาพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ในขณะนั้น  แต่ถ้าไม่ค่อยทำตามแสดงว่าอารมณ์ที่เหมาะแก่การเรียนรู้ยังไม่เกิด
          เมื่อเด็กมีอารมณ์ที่จะเรียนรู้แล้ว  ให้คนสอนทำความรู้สึกสนุกให้เกิดขึ้นกับตนเองก่อน  คนเรียนก็จะพลอยสนุกไปด้วย แต่ถ้าบังเอิญฟ้าฝนไม่เป็นใจบรรยากาศครึ้มๆ  ชวนให้เกิดอารมณ์อื่นมากกว่าแล้วต้องการสอนก็คงต้องบิ้ว..กันก่อน  โดยมีวิธีต่างๆ ดังนี้
 
          1 เติมพลังให้กับร่างกายถ้ารู้สึกว่าหิว
          2 สร้างความสดชื่นด้วยสเปร์น้ำเปล่าฉีดพ่นบนอากาศรอบๆ ตัว 
          3 ความสว่างสดใสของหลอดไฟช่วยได้
          4 กลิ่นหอมสดชื่นของดอกไม้นานาพันธุ์ 
          5 น้ำเสียงอันสดใสของผู้สอนที่จะพาเด็กน้อยท่องไปในโลกที่เขาไม่เคยรู้จัก 
              
          ถ้าทำครบทุกประสาทสัมผัสกันแล้วยังบิ้วไม่ขึ้นคงต้อง...รอป้ายหน้าละกันนะ
 
 

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

คำว่า “แม่”


"คุณแม่ครับผมคิดว่าถ้าจะให้น้องดีขึ้นคงต้องเปลี่ยนครูฝึกแล้วครับ"  นี่เป็นคำพูดประโยคหนึ่งที่ครูฝึกคนหนึ่งพูดกับคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ(ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการสมาธิสั้น)  คุณแม่ที่เป็นผู้ให้  ผู้ปกป้อง  ผู้คอยห่วงใย  ทำทุกอย่างให้ลูกมีความสุข เป็นคุณแม่ที่ให้ได้เกินกว่าแม่คนอื่นๆ จะให้  เชื่อเถอะว่ามีแม่ที่ให้ได้แบบนี้อยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย  ไม่ซิ! 5 เปอรเซ็นต์เท่านั้น 
คำว่า "แม่" นี้อาจมีความหมายลึกซึ้งในอีกแง่มุมหนึ่งถ้าพิจารณาจากตัวอักษรที่เขียนขึ้นมาจากสระเอสองตัวรวมกันเป็นสระแอ  มอม้าและไม้เอก  โดยสระแอนั้นอาจหมายถึงกำแพงสองชั้นที่กั้นอยู่  ชั้นที่หนึ่งนั้นหมายถึงกำแพงแห่งความเป็นห่วง ชั้นที่สองนั้นหมายถึงกำแพงแห่งความกลัวว่าลูกจะไม่ให้ความสำคัญ   มอม้าหมายถึงตัวเด็กที่เกิดและเติบโตขึ้นมาเพื่อวิ่งทะยานไปข้างหน้า  และไม้เอกนั้นคือไม้ที่เอาไว้คอยผลักดันหรืออีกนัยหนึ่งคือสายตาของแม่  ที่มองลงมาด้วยความห่วงใยมองความเป็นไปของม้าตัวนี้  หลายครั้งที่เราไม่เข้าใจคนโบราณว่าทำไมคำนี้จึงเขียนเช่นนี้  ความคิดของเขาอาจลึกซึ้งเกินเราเข้าใจหรือบางครั้งอาจตรงไปตรงมาเกินกว่าเราจะมองเห็น 
กำแพงทั้งสองสูงต่ำไม่เท่ากันในแม่แต่ละคน  มันช่วยฝึกฝนให้ม้าตัวนี้มีความสามารถที่มากขึ้นหากผู้เป็นแม่รู้วิธีการเพิ่มลดขนาดของกำแพงทั้งในเรื่องความสูงและความหนาให้เหมาะสมกับม้าตัวน้อยที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น ม้าที่ถูกฝึกเท่านั้นที่จะสามารถกระโดดข้ามกำแพงนี้ไปได้ 
"ครูฝึกที่ดีที่สุดก็คือตัวคุณแม่เองครับ" ประโยคทิ้งท้ายที่ทำให้ต้องฉุกคิดว่าตลอดเวลากว่าสิบปีที่พยายามหาครูที่ดีที่สุดมาให้ลูกนั้น  ทำไม! ผลการสอนจึงไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้  นั่นเป็นเพราะว่าคุณแม่ไม่เคยปรับขนาดกำแพงทั้งสองให้เหมาะสม  อีกทั้งยังไม่ใช้ไม้เอกที่มีอยู่มาฝึกให้ม้าตัวนี้มีความคิดความสามารถอย่างที่เขาควรจะเป็น...

การเสียสละ


ความที่เขายังเด็กเขาจึงไม่รู้จักคำว่า "เสียสละ"  นั่นไม่ใช่ความผิดของเด็กเพราะเกิดมาก็ต้องเรียนรู้ว่านี่มือของเรา  นั่นขาของเรา  นี่ตัวของเรา  ฯลฯ  รู้จักแต่คำว่าของๆ เรา  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก (ใบเล็ก) เป็นของเรา  ถูกแล้วที่เขาจะไม่รู้จักคำๆ นี้
จนกระทั่งเมื่อเด็กโตขึ้นเริ่มรับรู้ผลของการกระทำ  เราทำสิ่งนั้น  เราทำสิ่งนี้  ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร   อีกทั้งผู้ใหญ่ส่งเสริมให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองบ่อยๆ เข้า  จึงเริ่มสอนให้รู้จักการให้  ให้สิ่งที่เด็กรู้สึกว่าของสิ่งนั้นเป็นของๆ เรา (พ่อแม่บางคนต้องการสอนเรื่องการแบ่งปันจึงทำของขึ้นเป็นสองกอง  กองหนึ่งเป็นของเด็ก  อีกกองหนึ่งบอกว่าสำหรับแบ่งปัน  กองที่สองนี้เด็กไม่ได้รู้สึกว่าเป็นของๆ เรา)  เมื่อลองแบ่งปันของๆ ตนเองให้กับผู้อื่น  ได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกขณะแบ่งปันและผลที่ตามมาหลังจากนั้น  เมื่อได้ให้อยู่เนื่องๆ  ได้รับความรู้สึกที่ดีขณะให้อยู่เนื่องๆ  หลายครั้งได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีจากการแบ่งปัน  การเสียสละจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กคนนี้   ในทางกลับกัน เมื่อไม่ได้ให้อยู่เนื่องๆ  ไม่ได้รับความรู้สึกที่ดีขณะให้อยู่เนื่องๆ  หลายครั้งเห็นผลเสียจากการแบ่งปัน  การเสียสละจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเด็กคนนี้
 

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

หมากเก็บ..หมากเด็ดของการสอนคณิตศาสตร์

การเล่นหมากเก็บนั้นต้องอาศัยทักษะหลายอย่างทั้งการนับ  กล้ามเนื้อ  การควบคุม  ความมุ่งมั่น ยิ่งถ้าเล่นกันหลายๆ คน เด็กจะต้องรู้จักการรอคอย  ลำดับก่อนหลัง  กฎกติกาต่างๆ  ซึ่งจะว่าไปแล้วการเล่นหมากเก็บนั้นครอบคลุมพัฒนาการทั้งสี่ด้าน  รวมถึงได้นำการนับเลขมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่อีกด้วย (ต้องขอบคุณคนคิดค้นเกมส์นี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย  ที่ทำให้โลกใบนี้มีการละเล่นที่ยอดเยี่ยม)
        การเล่นหมากเก็บโดยการใช้ก้อนหินนั้นเด็กจะได้ประโยชน์หลายอย่าง  โดยในครั้งแรกของการเล่นเมื่อได้ไปเลือกเก็บก้อนหินมานั้นเด็กบางคนก็จะเลือกหยิบก้อนใหญ่ๆ  บางคนก็ก้อนเล็ก  บางคนไม่เลือกเจออะไรก็หยิบอันนั้นก้อนเล็กก้อนใหญ่เอาหมด  เมื่อเลือกมาได้ครบห้าก้อนแล้วก็จะมานั่งล้อมวงกัน  โออาน้อยออกว่าใครจะได้เล่นก่อน  พอเหลือสองคนก็มาเป่ายิงฉุบกัน  คนแรกเลือกก้อนใหญ่เวลาเล่นโยนขึ้นไปเก็บได้เม็ดเดียว  หรือบางทีเก็บไม่ได้เลยเพราะว่ามือเล็กเกินกว่าจะหยิบหลายๆ ก้อน  คนที่สองโยนบ้างเก็บได้เม็ดเดียวเหมือนกันเพราะว่าเมื่อกี้ดูคนแรกโยนเห็นว่าต้องใช้แรงประมาณนี้เลยโยนแรงไปเอื้อมมือคว้าไว้ได้แค่เม็ดเดียว  ส่วนคนที่สามเห็นสองคนแรกทำแล้วกะว่าสบายแล้วเรามีทั้งเม็ดใหญ่และเม็ดเล็ก  ที่ไหนได้พอโยนขึ้นไปจริงๆ  เลือกไม่ถูกเลยว่าจะรอรับเม็ดใหญ่หรือเม็ดเล็กดีเลยไม่ได้ซักเม็ดต่างคนเลยต่างตกลงกันว่าเดี๋ยวไปเก็บหินมาใหม่เอาให้พอเหมาะพอดี  นี่นับว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับการลองผิดลองถูกของเด็กๆ  ที่จะได้ทดลองชั่งน้ำหนักและวัดขนาดของก้อนหินด้วยมือของเขาเอง (และยังเป็นก้าวสำคัญของการลอกเพื่อนอีกด้วย 555...) 
                เล่นไปๆ  ฝีมือก็ยิ่งพัฒนา  ตอนนี้แหละที่การเสียเวลาเล่นหมากเก็บได้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง  เมื่อเด็กๆ  ได้นึกย้อนกลับไปในช่วงเริ่มเล่น  ระหว่างที่พัฒนาฝีมือ  และในปัจจุบันที่เล่นได้เก่งแล้ว  เขาจะเรียนรู้ว่าการฝึกฝนคืออะไร  ความสนุกที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนหรือแรงกระตุ้นที่ทำให้เขาอยากเล่นและเล่นจนเก่งคืออะไร  เมื่อเขานำไปเปรียบกับสิ่งที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจำเป็นต้องเรียนรู้  หรือเป็นสิ่งที่เขาอยากรู้ก็ตาม  เขาจะสามารถสร้างแรงจูงใจขึ้นมาได้เองและทำมันจนสำเร็จ  กระบวนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันสองวันมันใช้เวลาพอสมควร  กระบวนการนี้แหละที่เรียกว่า "พัฒนาการ"
        หมายเหตุ  กฎกติกาการเล่นแตกต่างกันไปในแต่ละที่โปรดศึกษาวิธีการเล่นแต่ละแบบเพื่อความเหมาะสมกับอายุและสิ่งแวดล้อม