วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

คำว่า “แม่”


"คุณแม่ครับผมคิดว่าถ้าจะให้น้องดีขึ้นคงต้องเปลี่ยนครูฝึกแล้วครับ"  นี่เป็นคำพูดประโยคหนึ่งที่ครูฝึกคนหนึ่งพูดกับคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ(ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการสมาธิสั้น)  คุณแม่ที่เป็นผู้ให้  ผู้ปกป้อง  ผู้คอยห่วงใย  ทำทุกอย่างให้ลูกมีความสุข เป็นคุณแม่ที่ให้ได้เกินกว่าแม่คนอื่นๆ จะให้  เชื่อเถอะว่ามีแม่ที่ให้ได้แบบนี้อยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย  ไม่ซิ! 5 เปอรเซ็นต์เท่านั้น 
คำว่า "แม่" นี้อาจมีความหมายลึกซึ้งในอีกแง่มุมหนึ่งถ้าพิจารณาจากตัวอักษรที่เขียนขึ้นมาจากสระเอสองตัวรวมกันเป็นสระแอ  มอม้าและไม้เอก  โดยสระแอนั้นอาจหมายถึงกำแพงสองชั้นที่กั้นอยู่  ชั้นที่หนึ่งนั้นหมายถึงกำแพงแห่งความเป็นห่วง ชั้นที่สองนั้นหมายถึงกำแพงแห่งความกลัวว่าลูกจะไม่ให้ความสำคัญ   มอม้าหมายถึงตัวเด็กที่เกิดและเติบโตขึ้นมาเพื่อวิ่งทะยานไปข้างหน้า  และไม้เอกนั้นคือไม้ที่เอาไว้คอยผลักดันหรืออีกนัยหนึ่งคือสายตาของแม่  ที่มองลงมาด้วยความห่วงใยมองความเป็นไปของม้าตัวนี้  หลายครั้งที่เราไม่เข้าใจคนโบราณว่าทำไมคำนี้จึงเขียนเช่นนี้  ความคิดของเขาอาจลึกซึ้งเกินเราเข้าใจหรือบางครั้งอาจตรงไปตรงมาเกินกว่าเราจะมองเห็น 
กำแพงทั้งสองสูงต่ำไม่เท่ากันในแม่แต่ละคน  มันช่วยฝึกฝนให้ม้าตัวนี้มีความสามารถที่มากขึ้นหากผู้เป็นแม่รู้วิธีการเพิ่มลดขนาดของกำแพงทั้งในเรื่องความสูงและความหนาให้เหมาะสมกับม้าตัวน้อยที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น ม้าที่ถูกฝึกเท่านั้นที่จะสามารถกระโดดข้ามกำแพงนี้ไปได้ 
"ครูฝึกที่ดีที่สุดก็คือตัวคุณแม่เองครับ" ประโยคทิ้งท้ายที่ทำให้ต้องฉุกคิดว่าตลอดเวลากว่าสิบปีที่พยายามหาครูที่ดีที่สุดมาให้ลูกนั้น  ทำไม! ผลการสอนจึงไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้  นั่นเป็นเพราะว่าคุณแม่ไม่เคยปรับขนาดกำแพงทั้งสองให้เหมาะสม  อีกทั้งยังไม่ใช้ไม้เอกที่มีอยู่มาฝึกให้ม้าตัวนี้มีความคิดความสามารถอย่างที่เขาควรจะเป็น...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น