วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ


          คำโบราณที่พูดกันมาอย่างยาวนาน  ซึ่งถ้าใครได้ลองพิสูจน์แล้วก็จะเห็นว่าจริง เพราะคนสมัยก่อนมีความเข้าใจในด้านนี้อย่างลึกซึ้ง  เขาให้สังเกตที่ดวงตาก็จะรู้ได้ว่าคิดอะไรอยู่ในขณะนั้น

          สำหรับเด็ก  เวลามองสิ่งใดก็มักจะคิดถึงสิ่งนั้น  เขามองไปเรื่อยๆ หาของที่ใช่  แล้วจึงเข้าไปหาความเพลิดเพลินหลายครั้งเด็กมองหาสิ่งเดิม ที่เคยเล่นสนุกในวันก่อน  หลายครั้งมองหาสิ่งใหม่ๆ ด้วยกำลังคิดว่า  นี่อะไร  นี่คืออะไร  และหลายครั้งมองไปสะดุดเพราะตรงจุดสนใจ...  นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในเชิงลึก

          อะไรล่ะที่เป็นจุดสนใจสำหรับเด็ก  คือสิ่งที่เขาเคยลองเคยสัมผัสมาแล้วว่ามันสนุกให้ความสุขกับเขาได้  สิ่งนั้นแหละเป็นตัวดึงความสนใจของเขา  อย่างเช่น  เด็กที่กำลังเล่นอยู่แล้วแม่เดินมา  เด็กจะหยุดเล่นแล้วหันมามอง  เพราะแม่เป็นคนที่เคยให้ความสุข  ความอบอุ่นกับเขา  เป็นต้น

          อยากให้เขาคิดอะไร  ทำอะไร  ก็ให้เขาเห็นเยอะๆ  แล้วก็อย่าลืมแสดงให้เขาเห็นด้วยล่ะว่ามันสนุกยังไง


วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เด็กปกติ เด็กพิเศษ


          จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเราเป็นเด็กปกติหรือเปล่า  (กระแสเด็กพิเศษช่วงนี้กำลังมาแรงจนทำให้แม่บางคนเกิดอาการวิตกจริตคิดไปไกลว่าลูกของเราอาจเป็นบ้างก็ได้)

          ก่อนอื่นมาดูนิยามของคำว่าเด็กพิเศษก่อน  ก็คือเด็กที่มีพฤติกรรมหรือพัฒนาการเบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์ปกติ  แล้วที่ว่าเกณฑ์ปกติเราเอามาจากที่ไหน  ก็เอามาจากการทำสถิติของผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  เช่น นักจิตวิทยา  นักพัฒนาการ  แพทย์  พยาบาล ฯลฯ  ที่สำคัญก็คือสถิติต่างๆ เหล่านี้ต้องได้รับการยอมรับทางสังคมหมู่มากด้วยจึงจะนำมาเป็นเกณฑ์ได้

          เรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ นี้เป็นเรื่องที่พูดยาก  ถ้าให้ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ อาจยกตัวอย่างได้จากเกณฑ์การแต่งตัวไปงานศพ  กับงานแต่ง  หรือการแต่งตัวไปวัดนั่งฟังพระเทศ  ไม่มีการกำหนดแน่นอนตายตัวแค่บอกว่าไปงาน ศพต้องแต่งชุดดำหรือชุดขาว  ไปงานแต่งไม่แต่งชุดให้เหมือนไปงานศพ  หรือไปวัดควรแต่งตัวให้สุภาพไม่แต่งตัวไปชวนพระสึก เป็นต้น 
           เกณฑ์ของเด็กปกติก็เช่นกัน  เขาเพียงตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาคร่าวๆ เท่านั้น  ว่าอายุเท่านี้เด็กควรทำอะไรได้บ้าง  อายุเท่านั้นเด็กควรมีพฤติกรรมอย่างไร  ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าอายุเท่านี้เด็กต้องทำอย่างนี้ได้  อายุเท่านั้นเด็กต้องมีพฤติกรรมอย่างนั้น 
          เด็กที่มีพัฒนาการบางด้านสูงกว่าเกณฑ์ปกติก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป  พ่อแม่ผู้ปกครองพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่าลูกของเราควรมีพัฒนาการที่เหมาะสมในทุกๆ ด้าน  ไม่มากเกินไป  ไม่น้อยเกินไป  มีความพอดีอย่างที่เด็กควรจะเป็นนั้นดีที่สุด  เพราะการที่เด็กมีพัฒนาการบางด้านสูงกว่าเกณฑ์นั้นก็หมายความว่าเด็กให้เวลากับพัฒนาการในด้านนั้นๆ มาก  ก็อาจแปลอีกความหมายหนึ่งว่า  ให้ความสำคัญกับพัฒนาการในด้านอื่นๆ น้อยลงนั้นเอง  เพราะเด็ก 5 ขวบ  ย่อมมีเวลาในการพัฒนาสิ่งต่างๆ เป็นเวลา 5 ปีเท่ากัน
หลงประเด็นมานาน  เข้าเรื่องเลยละกัน

          เด็กพิเศษในปัจจุบัน เช่น แอลดี  เอสเบอร์เจอร์ ไฮเปอร์  ออทิสติก  หรือดาวซินโดรม  (ไม่รวมพวกไอคิวสูง)  มักตัดสินว่าเป็นหรือไม่เป็นที่พัฒนาการ 2 อย่างนี้  คือ 1 สังคม 2 ภาษา  คือเด็กบางคนภาษาดีแต่ไม่มีสังคม  เด็กบางคนสังคมดีแต่ไม่ภาษา  หรือบางคนหาดีไม่ได้เลยทั้งสังคมและภาษา  ก็แนะนำให้หาหมอดีกว่านะครับอย่างนี้  ตรวจประเมินเด็กซะจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที 

แล้วจะดูอย่างไร?

          ด้านสังคม ดูว่า  สบตา  อ้าปากอยากสนทนา  หาทางมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่  เป็นต้น  เพราะเด็กบางคนสอนการทักทายเพื่อนด้วยวิธีที่ถูกต้องไปแล้วหลายครั้งก็ยังทำการทักทายด้วยปลายเท้าบ้าง  ขว้างปาสิ่งของไปใส่คนที่ตนสนใจบ้าง   สร้างความรำคาญให้กับคนรอบข้างบ้าง  อย่างนี้ไม่ใช่วิธีการเข้าสังคมที่ถูกต้อง
          ด้านภาษา ดูว่า  เปล่งเสียง  เล่นเสียง  เลียนเสียง ได้ก่อน 1 ขวบหรือไม่  พูดเป็นคำนำไปใช้ได้ก่อน 2 ขวบหรือไม่  ถ้าทำได้ก็หายห่วง 
   เปล่งเสียง เป็นอย่างไร  ก็คือ เสียงอะไรก็ได้ที่เล็ดลอดออกมาจากปากเด็กถือว่าใช้ได้ 
   เล่นเสียง  ก็คือ เปล่งเสียงออกเป็นเสียงสระรูปต่างๆ  หรือวรรณยุกต์รูปต่างๆ  เช่น อา  อื๋อ  อู๋  อ้อ แอ้ เป็นต้น  เลียนเสียง ก็คือ ได้ยินเสียงอะไรแล้วพยายามออกเสียงตามที่ได้ยิน
   พูดเป็นคำ ก็คือ พูดเป็นคำและรู้ความหมายของคำที่พูด  เช่น  เมื่อเด็กมองเห็นแม่แล้วจึงเปล่งเสียงคำว่า “แม่”  ไม่ใช่ว่า เมื่อเด็กมองเห็นขวดนมหรือขนมแล้วเปล่งเสียงคำว่า “แม่”  แปลว่าเด็กยังไม่รู้ความหมาย

          นำไปใช้ได้ ก็คือ เด็กสามารถนำคำต่างๆ มาใช้พูดเป็นวลี  หรือเป็นประโยคได้  เช่น  “กินข้าว”  “หิวข้าว”  “หนูอยากกินนั่น”  “หนูอยากกินนี่”  เป็นต้น

          อย่างไรก็ตามการประเมินจากหลักการดังกล่าวเป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น  ถ้าเด็กมีพัฒนาการที่เห็นว่าเบี่ยงเบนไปจากเด็กข้างบ้านมากจนผิดสังเกตหรือมีคนมาเตือนก็อาจพาเด็กไปพบแพทย์ หรือนักจิตวิทยา  เพื่อทำการตรวจประเมินโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การเล่นสำหรับเด็ก


          การเล่นคือคำที่ผู้ใหญ่เป็นคนตั้งขึ้นใช้กับลักษณะที่ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันของเด็ก  เด็กเองก็ไม่รู้ว่าเล่นคืออะไร  เขารู้แต่ว่าทำอย่างไรแล้วสนุกตื่นเต้น หัวเราะได้  ดังนั้นนิยามคำว่าการเล่นของเด็กและผู้ใหญ่อาจแตกต่างกัน

          ในปัจจุบัน คำว่า "เล่น" ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น  การเล่นจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เหมือนแต่ก่อน  ต้องมีเทคนิค  กระบวนการ  วิธีการยุ่งยากซับซ้อน  เล่นเพื่อหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง (สำหรับผู้ใหญ่บางคน)  แต่สำหรับเด็ก  การเล่นยังคงเป็นสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกสนุกสนาน  ถ้าไม่สนุกก็ไม่เรียกว่าเล่น

          เราเข้าใจเด็กจริงๆเหรอ? เรามักทำสิ่งต่างๆ หากิจกรรมมากมายก่ายกองมาให้เด็ก  ให้เขาทำ  แล้วนิยามมันว่า “การเล่น”  เคยถามเขาสักคำไหมว่ามันสนุกรึเปล่า  ชอบมั๊ย   

ดังนั้น  "สิ่งที่เรียกว่าการเล่น  เล่น..  จึงควรถามจากตัวเด็กมากกว่าว่ามันสนุกหรือไม่กันแน่?"

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความจำและภาษา จินตนาการและการคำนวณ


          ความจำได้จากกรรมพันธุ์  ภาษาได้จากการเรียนรู้  จินตนาการได้จากการเห็นมาก  การคำนวณได้จากการฝึกฝน  อาศัยหลักการทั้งสี่ก็ไม่ต้องพึ่งพรสวรรค์กันแล้ว

          การเรียนรู้สิ่งเดิมซ้ำๆ จึงจำได้  นำไปใช้บ่อยๆ จึงเกิดความเชี่ยวชาญ  หาความสำราญใส่ตัวมากๆ จึงก่อเกิดจินตนาการ  เผาผลาญพลังงานด้วยการคิด จึงเกิดการคำนวณ

          พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ความสนใจกับสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป  ซึ่งการฝึกฝนแต่ละอย่างคือ ความจำ  ภาษา  จินตนาการ  และการคำนวณ  ล้วนมีผู้คิดค้นวิธีต่างๆ ออกมาหลายวิธีแล้วแต่ว่าวิธีไหนจะเหมาะสมกับลูกของเรา  ไม่จำเป็นต้องฝึกตามกระแสที่ได้รับความนิยม  อยู่ที่เป้าหมายที่เราวางไว้ว่าคืออะไร  อยู่ที่เด็กว่าอายุเท่าไหร่ควรฝึกอะไร 

          แต่ถ้าไม่รู้ว่าเป้าหมายที่วางไว้คืออะไร  ไม่รู้ว่าเด็กอายุเท่าไหร่ควรฝึกอะไร  ก็แนะนำให้ทำแบบหว่าน  คือเรียนรู้มาก  เห็นมาก  และฝึกฝนมาก  จนถึงช่วงวัยรุ่น 12 13  แล้วค่อยมาดูแนวทางอีกทีก็ได้ว่าจะเป็นเด็กแนวไหนดี  (แต่อย่าลืมว่า การหว่านก็คือการหว่าน  เด็กจะแสดงผลลัพธ์ออกมาเพียงบางอย่างเท่านั้น  ไม่ควรไปตั้งความหวังอะไรมากเพราะจะทำให้เครียดทั้งตัวเด็กและตัวผู้ใหญ่)




วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ดนตรี กีฬา


          วัยรุ่นเป็นวัยที่มีพลังงานมาก  อารมณ์ขึ้นเร็วลงเร็ว  กิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับวัยรุ่นคงหนีไม่พ้นดนตรีและกีฬา  สองอย่างนี้ช่วยให้วัยรุ่นมีทางออกของพลังงานได้ดี  ช่วยให้เรียนรู้อารมณ์ของตนเอง
       ประโยชน์ที่ได้จากการเล่นดนตรี กีฬามีอีกมาก เช่นการฝึกทักษะทางร่างกาย  ทางสังคมและสติปัญญา  สมมุติว่าเล่นบาสเกตบอล  เริ่มแรกจะต้องฝึกทักษะทางด้านร่างกายก่อน  ฝึกเลี้ยงลูก  ส่งบอล  ฝึกชู๊ต  จากนั้นจึงร่วมเล่นเป็นทีมมีเพื่อนๆ ร่วมเล่นกันเรียนรู้ความสามารถของแต่ละคนรวมถึงความสามารถของตนเองแล้วเล่นให้เข้าขากัน  เมื่อเล่นเข้าขากันได้แล้วทักษะด้านสติปัญญาจะถูกใช้อย่างมากในการแข่งขันกับทีมอื่นๆ  การวางแผน  วิธีการใช้จุดเด่นจุดด้อยของทีม  ทักษะทุกอย่างจะถูกนำมาแสดงออกในขั้นตอนนี้  การเล่นกีฬาจึงมีประโยชน์กับพัฒนาการของวัยรุ่นอย่างมาก
          ส่วนวัยรุ่นคนไหนไม่ชอบเล่นกีฬา แต่ก็อาจจะชอบเล่นดนตรี  ก็ได้ฝึกทักษะทางด้านต่างๆ คล้ายกัน เช่นถ้าเล่นเปียโน  จะได้เรียนรู้การนั่งที่ถูกต้อง  วิธีการวางมือ  การฝึกกำลังนิ้วมือ  จากนั้นจะต้องใช้สมองซีกซ้ายขยับนิ้วมือขวา  ใช้สมองซีกขวาขยับนิ้วมือซ้ายให้กดไปตามคีย์ต่างๆ จนเกิดเสียงอันไพเราะ  เมื่อขยับนิ้วมากสมองก็ต้องขยับสั่งการมาก  ส่งผลให้เซลล์ประสาทถูกใช้งานเกือบทุกส่วน  จึงสังเกตได้ว่าเด็กที่เล่นเปียโนส่วนใหญ่จะมีความคิดกว้างไกลใช้สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ออกมาได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนเปียโนหรือขาดการขยับควบคุมนิ้วมือบ่อยๆ เมื่อเล่นเปียโนไปได้ซักระยะมีฝีมือติดตัว  เล่นเป็นเพลงได้  จึงเกิดการรวมตัวทำวงขึ้น  ไปจนถึงการแข่งขันงานประกวดต่างๆ
         โดยสรุปดนตรีและกีฬาเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยรุ่นมากที่สุด  ช่วยให้เด็กได้ฝึกทักษะต่างๆ   ได้เข้าสังคม  มีเป้าหมายในการเป็นวัยรุ่นที่ดี  ที่สำคัญคือทำให้พ่อแม่ภูมิใจและไม่เป็นกังวล





วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ดินน้ำมันสิ่งมหัศจรรย์สำหรับการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก


    "ใครหนอช่างคิดประดิษฐ์ดินน้ำมันขึ้นมาให้เด็กๆ ได้เล่น  ได้ปั้นเป็นรูปต่างๆ!"

          นึกย้อนไปตอนที่เป็นเด็ก  เราได้ขุดดิน  ได้เล่นขนดินมาสร้างเป็นปราสาท  ก่อกองทรายบ้าง  ทำเมืองบ้าง  ทำอุโมงค์บ้าง  สนุกสนานกับเพื่อนๆ ในละแวกบ้าน  จนมาวันนึงมีคนเอาดินน้ำมันมาเล่นบอกว่ามันคือดินน้ำมันเล่นเหมือนดินเลยแต่ปั้นง่ายกว่า  จึงชวนกันไปเล่น  บางคนก็ปั้นเป็นรูปวงกลม  บางคนก็ปั้นยาวๆ  บางคนก็ปั้นเป็นหุ่นยนต์  บ้างก็เป็นสัตว์แล้วเอามาโชว์กัน  และตบท้ายด้วยการนำดินน้ำมันมารวมกันสร้างเป็นทางงู

          การสร้างทางงูใช้อุปกรณ์ไม่มากนักแค่มีดินน้ำมันกับดินสออะพอลโล จินตนาการผสานกล้ามเนื้อมัดเล็กบรรจงปั้นแต่งเป็นงูตัวยาวๆ  แล้วนำดินสออะพอลโลมากดลงตรงกลางให้เป็นทางวิ่งของลูกดินน้ำมัน  ดินน้ำมันก้อนเล็กถูกขับเคลื่อนไปด้วยแรงลมไปตามทางที่เราทำไว้กับเพื่อนๆ  มันวิ่งเลี้ยวซ้ายบ้าง  ขวาบ้าง  ขึ้นสะพานบ้าง  เข้าอุโมงค์บ้าง  ตามจินตนาการที่เขาคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา  เรียกว่าเป็นวิศวกรตัวน้อยได้เลย

         การเล่นสร้างทางงูนี้ถ้าพูดกันในแง่ของพัฒนาการแล้ว  เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการในทุกๆ ด้าน  ทั้งทางด้านร่างกายในการใช้มือปั้น , การขยับตัวไปในทิศทางของลูกดินน้ำมันเพื่อเป่าให้ไปข้างหน้า  ด้านอารมณ์ก็ได้ลุ้น  ได้สนุกตื่นเต้นไปตามทางเลี้ยวลดคดเคี้ยวที่สร้างเอาไว้  ด้านสังคมได้รู้จักยืนรอต่อคิว  มีอารมณ์ร่วมไปกับเพื่อนที่กำลังเป็นคนเล่น  และด้านสติปัญญาในการใช้จินตนาการดึงความทรงจำจากสถานที่ต่างๆ  ที่เคยไปมาประมวลผลสร้างเป็นทางงู  การเล่นดินน้ำมันจึงถือว่าเป็นสิ่งมหัสจรรย์อย่างหนึ่งสำหรับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเลยทีเดียว