วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เด็กกับครูบ้า


          ครูสอนเด็กพิเศษแต่ละคนก็คล้ายกับรถแท็กซี่ที่คอยวิ่งรับเด็กๆ ไปส่งที่ปลายทางนั่นแหละ  ก่อนรับเด็กขึ้นรถก็ถามว่า "หนูจะไปไหน"  พอเด็กบอกทางแล้ว  ครูรู้จักทาง รู้ว่าทางที่จะไปนั้นราบรื่นดีจึงรับเด็กขึ้นรถแล้วพาไปส่งถึงที่  เด็กบางคนบอกทาง  ครูรู้จักทางรู้ว่าทางไม่เรียบไม่ราบรื่น  ครูบางคนรับเด็กขึ้นรถพาไปส่งถึงที่แม้จะยากลำบาก  แต่บางคนก็ไม่รับ(ต้องรีบไปส่งรถ)  เด็กอีกคนบอกทาง  ครูไม่รู้จักทาง  ไม่รู้ว่าทางที่ไปนั้นราบเรียบหรือขรุขระ  จึงบอกเด็กว่าไม่รู้จักทางไปไม่ได้ แต่ก็มีครูบ้าบางคนรับเด็กขึ้นมา และด้วยความเป็นเด็กที่รู้จุดมุ่งหมายแต่ไม่รู้จักทางในรถจึงมีแต่

        "เด็ก และ ครูบ้า ที่กำลังมุ่งหน้าไปไหนกันก็ไม่รู้"



 


วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อารมณ์ขึ้น (อารมณ์ที่ควรทำให้เกิดมีขึ้น)



      "อยากรู้อยากเห็น  ลองผิดลองถูก  เลียนแบบ"  3 คำนี้ ช่วยให้เกิดอารมณ์การเรียนรู้ในเด็ก  ตัวอย่างเช่น  เวลาที่เล่นอยู่แล้วมีมดแดงตัวใหญ่เดินผ่านมา  ถ้าเกิดอารมณ์อยากรู้อยากเห็นก็จะเข้าไปดู  ดูแล้วอยากลอง  มดซวยเลยคราวนี้  พอดีผู้ใหญ่เดินผ่านมาเห็นมดอยู่ใกล้กลัวว่าจะถูกกัด  จึงพูดกับเด็กน้อยที่สงสัยในตัวมดว่า "ระวังมดกัดนะ" แล้วใช้นิ้วดัชนีบี้มด  วินาทีนั้นเองเด็กน้อยได้เรียนรู้วิธีการทำบาปแล้วเรียบร้อย  ต่อไปเขาเห็นมดเดินมาก็จะพูดว่า "มดๆ ระวังโดนกัด  นี่แน่บี้ซะเลย"  กลัวๆๆๆ ที่ไหน  เกรงใจหรอกหนา...

        ตื่นเต้น ตกใจ ช่วยส่งเสริมให้มีอารมณ์อยากรู้อยากเห็นมากขึ้น

      เอาการเอางานตรงข้ามกับไม่เอาอะไรเลย  จะช่วยให้ฟังคำสั่งสอนอย่างตั้งใจ

       การยับยั้งชั่งใจ ช่วยลดความฟุ้งซ่านทำให้มีสมาธิและทำกิจกรรมต่างๆ ได้นาน  เหมาะที่จะส่งเสริมให้เกิดขึ้นในเด็กสมาธิสั้น

 

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ที่มาของคำว่า 3 ห่วงพัฒนาการ


          "หลายคนสงสัยกันว่า 3 ห่วงพัฒนาการคืออะไร" คนเรานั้นมีห่วงอยู่ 3 ห่วง คือ

1. ห่วงที่ข้อเท้า หมายถึง ความห่วงในในทรัพย์สินที่ตนมี
2. ห่วงที่ข้อมือ หมายถึง ความห่วงใยในภรรยา
3. ห่วงคล้องคอ หมายถึง ความห่วงใยในบุตร
          ซึ่งหลังจากที่ผ่านการเป็นครูกระตุ้นพัฒนาการให้กับเด็กๆ มา 2 ปี  เมื่อย้ายมาทำงานในตำแหน่งนักจิตวิทยาจึงมานั่งคิดว่าพัฒนาการของเด็กที่ต้องคำนึงถึงก็มีอยู่ 3 อย่างเหมือนกัน คือ
 1 การช่วยเหลือตนเอง
2 การเล่น
3 ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ 
          พอคิดอย่างนี้แล้วจึงนำมาสรุปเป็นคำง่ายๆ เพื่อเวลาที่พัฒนาเด็กจะได้นึกถึงทั้ง 3 ห่วงนี้ว่า  กิจกรรมหนึ่งๆ นั้นจะต้องให้เด็กทำอะไรบ้างจึงจะครบองค์ประกอบทั้งหมดที่ทำให้มีพัฒนาการด้านต่างๆ ที่สมบูรณ์

    และนี่จึงคือที่มาของคำว่า 3 ห่วงพัฒนาการ



ภาพประกอบ



วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เรียนภาษาไทยจากบทเพลง


          ในวัยเด็กมีเพลงต่างๆ มากมายที่เราร้องเล่นกันและจำได้มาจนถึงทุกวันนี้ เช่น เพลงมอญซ่อนผ้า  เพลงแม่งูเอ๋ย ฯลฯ แล้วรู้หรือไม่ว่าเพลงเหล่านี้มีความหมายแอบแฝงอยู่ที่สามารถนำไปสอนเด็กๆ ได้ งั้นลองมาดูกันซิว่าเราได้อะไรจาก เพลง ค. ควาย นี้บ้าง 


    เพลง ค. ควาย


เนื้อร้อง   โดย   ครูฤทธิ์
                                 ทำนองและดนตรี   โดย   ครูเตย
ขับร้อง   โดย   ครูเตย


    "ค. ควายละลายพื้นที่  ทำดินไม่ดีกลายเป็นผืนนา  ปลูกข้าวช่วงเข้าพรรษา  ไถ่หว่านดำนาคือคุณ ค. ควาย"



ลิขสิทธิ์เพลง โดย
MSL MUSIC HOUSE


          เป็นอย่างไรกันบ้างกับเพลง ค. ควาย เด็กๆ ที่ฟังเพลงนี้คงจะจำ ค. ควายได้ว่า  ควายมีไว้ทำอะไร  และให้คุณประโยชน์กับเราอย่างไร  ทีนี้พอเด็กๆ มีความคิดเกี่ยวกับสัตว์ตัวนี้พอสมควรแล้ว  เราจึงโยงเข้าไปสู่การจดจำตัวอักษรที่มีหน้าตาอย่างนี้ "ค" ให้เขารู้ว่าอย่างนี้เรียกว่า ค. ควาย

          ในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยรู้จักตัวอักษรแล้วแต่ยังสะกดคำไม่ได้  พอฟังเพลง  ร้องตามได้  เขาก็จะรู้ว่าคำต่างๆ ในเพลงอ่านว่าอย่างไร  การสอนการสะกดคำจะง่ายขึ้น

          เด็กที่โตขึ้นมาอีก  สะกดคำได้แล้วแต่ยังอ่านไม่คล่อง  พอฟังเพลง  ร้องตามได้  ทีนี้อ่านคล่องเลย  ยิ่งเราแนะนำเทคนิคให้เด็กด้วยแล้ว  เขาจะนำเทคนิคต่างๆ นี้ไปใช้กับการอ่านอย่างอื่นได้ด้วย

    ลองให้เด็กๆ เอาเพลง ค. ควาย มาร้องเล่นกันดูแล้วจะรู้ว่าเพลงนี้มีประโยชน์อย่างไร

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นิ้วดัชนี

 
          กล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine motor) ที่สำคัญกับการทำงานต่างๆ คงหนีไม่พ้นกล้ามเนื้อนิ้วมือ  การหยิบจับ  เล่นของเล่น  เล่นดนตรี  เขียนหนังสือ  ล้วนใช้มือและนิ้วมือเป็นหลัก  (ไม่นับการเล่นฟุตบอล  เพราะใช้มือไม่ได้ )
          การพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กส่วนใหญ่ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การต่อบล็อคไม้  ต่อโดมิโน่  ปั้นดินน้ำมัน  ดีดลูกแก้ว  เล่นเปียโน  แต่ที่ผู้ใหญ่หรือครูผู้จัดกิจกรรมให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ  การเขียน  เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ในการเรียนมากที่สุดในยุคปัจจุบัน  (อนาคตอาจให้ความสำคัญกับการพิมพ์ดีดมากกว่า)  และการเขียนก็เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีที่สุด
          การเขียนของเด็กส่วนใหญ่มักเริ่มจากการขีดเขียนไปเรื่อยเปื่อย  ไม่ลงน้ำหนัก  แล้วจึงเริ่มลงน้ำหนักเมื่อกล้ามเนื้อมีแรงมากขึ้น  พอถึงตรงนี้ถ้าเด็กคนไหนมีโอกาสได้ขีดเขียนมากๆ  เขาจะเริ่มรู้ว่าเขาสามารถที่จะบังคับดินสอขีดเขียนเป็นเส้นในลักษณะต่างๆได้  แล้วก็จะรู้สึกสนุกกับการขีดเขียน  การขีดเขียนให้เป็นเส้นต่างๆ  เป็นเส้นตรง  เป็นรูปทรงต่างๆ เช่น รูปวงกลม  รูปสามเหลี่ยม  รูปสี่เหลี่ยม เป็นต้น ไปจนถึงการเขียนตัวอักษรจึงเริ่มขึ้นในลำดับต่อมา


       สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ "อย่าลืม ! ให้โอกาสเด็กๆ ได้รู้ถึงความสนุกของการใช้ดินสอ"

การสังเกตเด็ก

         "หิวก็ร้อง  เปียกก็ร้อง  ป่วยก็ร้อง"  ร้องจนได้ดีมีไม้เรียวมาฟาดที่ก้น  สำหรับพ่อแม่ที่เป็นมือใหม่มักจะไม่ค่อยรู้ว่าเด็กต้องการอะไร  ร้องทำไมก็ไม่รู้ปวดหัวไปหมด 
          พื้นฐานการร้องเพลงของเด็กนั้นมักจะมาจากสามอย่างที่กล่าวข้างต้น  เราอาจสังเกตจากสิ่งแรกก่อนว่าถึงเวลากินหรือยัง  ถ้าถึงเวลากินแล้วร้อง  แสดงว่าเด็กหิวให้รีบหาของกินมายัดใส่ปากซะ  แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ดูว่าก้นเปียกฉี่ราดขี้แตกออกมาหรือไม่  สองอย่างนี้ถ้าทำแล้วเด็กยังร้องอยู่  หมายความว่าเด็กอาจจะป่วยหรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อยได้  ให้รีบหาสาเหตุแล้วรักษาตามอาการ
          มีเด็กอีกประเภทที่ชอบร้องเหมือนกัน  แต่ไม่ได้ร้องด้วยสาเหตุพื้นฐานทั้งสามอย่าง  เด็กพวกนี้มักร้องเวลาอยากได้ของ  อยากได้นั่นอยากได้นี่มีอะไรที่เห็นแล้วชอบใจใคร่ได้มาเป็นของตนก็จะอาศัยการร้องเพลงให้ผู้อื่นฟัง ให้รู้ว่าเด็กพวกนี้มีพัฒนาการที่ไม่ดี  ต้องให้เขาเรียนรู้ใหม่ว่าถ้าใคร่จะได้ของต้องทำอย่างนี้ๆ 
          หลังจากที่เราจัดการกับปัญหาทางกายแล้วก็อย่าลืมปัญหาทางใจด้วย  เพราะเมื่อเด็กร้องไห้ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามย่อมมีความเครียดตกตะกอนภายใจจิตใจ  ความเครียดเหล่านี้จะสลายหายไปได้ก็ด้วยการแสดงความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ผู้ปกครองหรือบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก  (แสดงออกในปริมาณที่เหมาะสม  มากไปก็ไม่ดี  น้อยไปก็ไม่ดี)

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ขั้นบันไดของพัฒนาการ

 
          อาจารย์เคยสอน ว่า " พัฒนาการก็เหมือนกับขั้นบันได  ก้าวไปๆ เดี๋ยวก็ถึง  แต่ก่อนจะถึงต้องรู้ก่อนว่าถึงไหน  ถึงอะไร  เราจึงต้องทำการแตกกระจายคำว่าพัฒนาการออกมาก่อน  ยิ่งแยกได้ละเอียดมาก  บันไดที่จะต้องก้าวขึ้นไปให้ถึงจุดหมายก็จะน้อยขั้นลงมาก"

          ขั้นแรก  ขอแยกพัฒนาการออกเป็นด้านก่อน  ในที่นี้ขอแยกออกเป็น 4 ด้าน คือด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคม สติปัญญา
แต่ละด้านก็แยกย่อยกันไปอีก คือ
ด้านร่างกาย แยกเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่  กล้ามเนื้อมัดเล็ก
ด้านอารมณ์  แยกเป็น โลภ โกรธ หลง หดหู่ง่วงซึม  ฟุ้งซ่าน  สุข  ทุกข์  เฉยๆ (ศึกษาต่อได้ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 12 หน้าที่ 100)
สังคม  แยกเป็น  ความเป็นตัวของตัวเอง  กับความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
สติปัญญา แยกเป็น ความจำและภาษา  จินตนาการและการคำนวณ 
          ในส่วนที่แยกย่อยออกมาก็ยังสามารถแยกย่อยลงไปได้อีก เช่น กล้ามเนื้อมัดใหญ่ก็แยกออกเป็นกล้ามเนื้อคอ  ลำตัว  กล้ามเนื้อแขน  กล้ามเนื้อขา 
          จากนั้นเมื่อได้เป้าหมายแล้วว่าจะพัฒนาอะไร  เราจึงเริ่มพัฒนาไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้  โดยค่อยๆ พัฒนาไปไม่ต้องรีบร้อน ทำให้เหมือนกับการก้าวขึ้นบันได  ที่จะต้องก้าวไปทีละขั้นเพื่อความปลอดภัยไม่รีบก้าว  หรือก้าวข้ามขั้น  เพราะจะทำให้พลาดตกหกคะเมนลงมาจนต้องเริ่มต้นใหม่ได้  หาเป้าหมายย่อยๆ  แล้วค่อยๆ ก้าวไปทีละขั้น


เป้าหมายพัฒนาการและการหาเป้าหมาย (เด็ก)

 
เด็กในช่วงแรกของชีวิต (0-2ปี)
          มักง่วนอยู่กับการค้นหาตัวเองว่าร่างกายนี้มีความสามารถทำอะไรได้บ้าง  เป็นช่วงลองผิดลองถูก  เห็นร่างกายเป็นเหมือนอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ต้องค่อยๆ ทดลองใช้งาน

เด็กก่อนวัยเรียน 
          เมื่อได้ทดลองใช้ร่างกายนี้จนชำนาญแล้วก็ถึงเวลาเอาไปใช้งานจริง  ในช่วงวัยนี้พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้การสนับสนุนเด็กในเรื่องการช่วยเหลือตนเอง เช่น เรื่องความสะอาดของร่างกาย  อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว  ความสะอาดของสิ่งแวดล้อมที่ตนอยู่ ถูบ้าน ล้างจานเป็นต้น

ช่วงวัยเรียน (ประถม) 
          ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า  ทั้งปะ ทั้งถม  เป็นช่วงวัยที่เริ่มออกสู่โลกภายนอก  ต้องเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง  ทั้งที่โรงเรียน  และทางไปโรงเรียน ว่ามีอะไรบ้าง  รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร  มีชื่อว่าอะไร  เอาไว้ทำอะไร  ซึ่งถ้าเด็กได้รับรู้สิ่งต่างๆ อย่างกว้างขวางก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคต  (แต่ต้องไม่เครียดนะ)

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สามห่วงพัฒนาการ (เด็ก)

 
การเล่น เพื่อพัฒนาการทางด้านต่างๆ
          ร่างกาย เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ  พลังงานที่เขาได้รับมาจากการรับประทานอาหารก็จะถูกใช้งานอย่างเต็มที่  ซึ่งปกติแล้วเด็กส่วนใหญ่จะไม่รู้จักการออมแรง  เขามักทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มความสามารถ  ไม่มีความกังวลเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องที่กำลังทำอยู่  เขาจะเรียนรู้การใช้ร่างกายได้จากการทำกิจกรรมนี้เอง  ดังนั้นยิ่งได้ทำกิจกรรมหลากหลาย  เขาก็จะยิ่งได้เรียนรู้ร่างกายของตนเองมากตามไปด้วย
อารมณ์อยากรู้อยากเห็น  เป็นอารมณ์ของเด็กที่มีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็กโดยตรง  เมื่อใดที่เด็กเริ่มอยากรู้อยากเห็น  เขาก็จะเริ่มแสวงหา  พัฒนาการก็จะเริ่มต้นจากตรงนี้เอง
สังคมของเด็กจะเริ่มจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุดก่อน  แล้วขยายวงกว้างออกไปตามความสามารถและความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เช่น เมื่อแรกเกิด มีแม่กับลูก  นอนบนเตียง มีตุ๊กตาหมีเป็นเพื่อน  คลานได้ก็เริ่มมีสังคมกว้างขึ้น  เดินได้ก็กว้างขึ้นอีก  จนไปโรงเรียนได้ 
สติปัญญา  ถ้าหัวโตไม่ได้เกิดเพราะบวมน้ำหรือเป็นโรคก็อาจอนุมานได้ว่าเป็นคนหัวดีมีสติปัญญามาก  นี่คือพันธุกรรม(พันธุ์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง)  อีกครึ่งต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมในเรื่องของการเรียนรู้  รู้มากจำได้มากตอบสนองรวดเร็วถูกต้อง  ก็เรียกว่ามีสติปัญญาดี

การช่วยเหลือตนเอง
          กิจวัตรประจำวัน เช่น กินข้าว อาบน้ำแต่งตัว เข้าครัวหาอาหาร  ล้างจาน  ทำความสะอาดห้องนอน  ห้องนั่งเล่น(ถ้ามี) รู้จักหากิจกรรมยามว่างทำเอง (เล่นเองเป็นไม่ต้องสอนหรือแนะนำให้เล่นเหมือนเด็กพิเศษบางประเภท)  ถ้าเด็กทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เอง  ด้วยตัวเอง  ก็จะเป็นการลดภาระให้กับบุคคลรอบข้างได้มาก และถือว่าเป็นเด็กที่มีพัฒนาการที่ดี

ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ห่วงใหญ่ที่ควบคุมอีกสองห่วง
          ในทุกๆ การเล่น  ทุกๆ กิจกรรมที่เด็กทำ  เขาจะต้องรู้กฎเกณฑ์ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้  และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไป  เช่น เล่นของเล่นเสร็จแล้วต้องรู้จักเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย  ไม่เป็นภาระหรือปัดความรับผิดชอบให้คนอื่นมาเก็บให้ (ในเรื่องความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันจะเอาไว้พูดทีหลัง)  จึงเรียกว่ามีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ