วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ประเมินอารมณ์ก่อนการเรียนรู้


ตรวจสอบสภาพร่างกายก่อนเป็นอันดับแรกว่ามีความพร้อมที่จะเล่นสนุกได้มากแค่ไหน  ชวนกันมาขยับเขยื้อนร่างกายให้กระฉับกระเฉง  มีจังหวะทั้งช้าและเร็ว  ก็จะประเมินได้ว่าเด็กมีอารมณ์ที่จะเล่นเพื่อการเรียนรู้หรือไม่  เพราะถ้าเด็กทำตามทุกอย่างก็หมายความว่าเขาพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ในขณะนั้น  แต่ถ้าไม่ค่อยทำตามแสดงว่าอารมณ์ที่เหมาะแก่การเรียนรู้ยังไม่เกิด
          เมื่อเด็กมีอารมณ์ที่จะเรียนรู้แล้ว  ให้คนสอนทำความรู้สึกสนุกให้เกิดขึ้นกับตนเองก่อน  คนเรียนก็จะพลอยสนุกไปด้วย แต่ถ้าบังเอิญฟ้าฝนไม่เป็นใจบรรยากาศครึ้มๆ  ชวนให้เกิดอารมณ์อื่นมากกว่าแล้วต้องการสอนก็คงต้องบิ้ว..กันก่อน  โดยมีวิธีต่างๆ ดังนี้
 
          1 เติมพลังให้กับร่างกายถ้ารู้สึกว่าหิว
          2 สร้างความสดชื่นด้วยสเปร์น้ำเปล่าฉีดพ่นบนอากาศรอบๆ ตัว 
          3 ความสว่างสดใสของหลอดไฟช่วยได้
          4 กลิ่นหอมสดชื่นของดอกไม้นานาพันธุ์ 
          5 น้ำเสียงอันสดใสของผู้สอนที่จะพาเด็กน้อยท่องไปในโลกที่เขาไม่เคยรู้จัก 
              
          ถ้าทำครบทุกประสาทสัมผัสกันแล้วยังบิ้วไม่ขึ้นคงต้อง...รอป้ายหน้าละกันนะ
 
 

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

คำว่า “แม่”


"คุณแม่ครับผมคิดว่าถ้าจะให้น้องดีขึ้นคงต้องเปลี่ยนครูฝึกแล้วครับ"  นี่เป็นคำพูดประโยคหนึ่งที่ครูฝึกคนหนึ่งพูดกับคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ(ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการสมาธิสั้น)  คุณแม่ที่เป็นผู้ให้  ผู้ปกป้อง  ผู้คอยห่วงใย  ทำทุกอย่างให้ลูกมีความสุข เป็นคุณแม่ที่ให้ได้เกินกว่าแม่คนอื่นๆ จะให้  เชื่อเถอะว่ามีแม่ที่ให้ได้แบบนี้อยู่ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย  ไม่ซิ! 5 เปอรเซ็นต์เท่านั้น 
คำว่า "แม่" นี้อาจมีความหมายลึกซึ้งในอีกแง่มุมหนึ่งถ้าพิจารณาจากตัวอักษรที่เขียนขึ้นมาจากสระเอสองตัวรวมกันเป็นสระแอ  มอม้าและไม้เอก  โดยสระแอนั้นอาจหมายถึงกำแพงสองชั้นที่กั้นอยู่  ชั้นที่หนึ่งนั้นหมายถึงกำแพงแห่งความเป็นห่วง ชั้นที่สองนั้นหมายถึงกำแพงแห่งความกลัวว่าลูกจะไม่ให้ความสำคัญ   มอม้าหมายถึงตัวเด็กที่เกิดและเติบโตขึ้นมาเพื่อวิ่งทะยานไปข้างหน้า  และไม้เอกนั้นคือไม้ที่เอาไว้คอยผลักดันหรืออีกนัยหนึ่งคือสายตาของแม่  ที่มองลงมาด้วยความห่วงใยมองความเป็นไปของม้าตัวนี้  หลายครั้งที่เราไม่เข้าใจคนโบราณว่าทำไมคำนี้จึงเขียนเช่นนี้  ความคิดของเขาอาจลึกซึ้งเกินเราเข้าใจหรือบางครั้งอาจตรงไปตรงมาเกินกว่าเราจะมองเห็น 
กำแพงทั้งสองสูงต่ำไม่เท่ากันในแม่แต่ละคน  มันช่วยฝึกฝนให้ม้าตัวนี้มีความสามารถที่มากขึ้นหากผู้เป็นแม่รู้วิธีการเพิ่มลดขนาดของกำแพงทั้งในเรื่องความสูงและความหนาให้เหมาะสมกับม้าตัวน้อยที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น ม้าที่ถูกฝึกเท่านั้นที่จะสามารถกระโดดข้ามกำแพงนี้ไปได้ 
"ครูฝึกที่ดีที่สุดก็คือตัวคุณแม่เองครับ" ประโยคทิ้งท้ายที่ทำให้ต้องฉุกคิดว่าตลอดเวลากว่าสิบปีที่พยายามหาครูที่ดีที่สุดมาให้ลูกนั้น  ทำไม! ผลการสอนจึงไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้  นั่นเป็นเพราะว่าคุณแม่ไม่เคยปรับขนาดกำแพงทั้งสองให้เหมาะสม  อีกทั้งยังไม่ใช้ไม้เอกที่มีอยู่มาฝึกให้ม้าตัวนี้มีความคิดความสามารถอย่างที่เขาควรจะเป็น...

การเสียสละ


ความที่เขายังเด็กเขาจึงไม่รู้จักคำว่า "เสียสละ"  นั่นไม่ใช่ความผิดของเด็กเพราะเกิดมาก็ต้องเรียนรู้ว่านี่มือของเรา  นั่นขาของเรา  นี่ตัวของเรา  ฯลฯ  รู้จักแต่คำว่าของๆ เรา  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก (ใบเล็ก) เป็นของเรา  ถูกแล้วที่เขาจะไม่รู้จักคำๆ นี้
จนกระทั่งเมื่อเด็กโตขึ้นเริ่มรับรู้ผลของการกระทำ  เราทำสิ่งนั้น  เราทำสิ่งนี้  ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร   อีกทั้งผู้ใหญ่ส่งเสริมให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองบ่อยๆ เข้า  จึงเริ่มสอนให้รู้จักการให้  ให้สิ่งที่เด็กรู้สึกว่าของสิ่งนั้นเป็นของๆ เรา (พ่อแม่บางคนต้องการสอนเรื่องการแบ่งปันจึงทำของขึ้นเป็นสองกอง  กองหนึ่งเป็นของเด็ก  อีกกองหนึ่งบอกว่าสำหรับแบ่งปัน  กองที่สองนี้เด็กไม่ได้รู้สึกว่าเป็นของๆ เรา)  เมื่อลองแบ่งปันของๆ ตนเองให้กับผู้อื่น  ได้เรียนรู้ถึงความรู้สึกขณะแบ่งปันและผลที่ตามมาหลังจากนั้น  เมื่อได้ให้อยู่เนื่องๆ  ได้รับความรู้สึกที่ดีขณะให้อยู่เนื่องๆ  หลายครั้งได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีจากการแบ่งปัน  การเสียสละจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กคนนี้   ในทางกลับกัน เมื่อไม่ได้ให้อยู่เนื่องๆ  ไม่ได้รับความรู้สึกที่ดีขณะให้อยู่เนื่องๆ  หลายครั้งเห็นผลเสียจากการแบ่งปัน  การเสียสละจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเด็กคนนี้
 

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

หมากเก็บ..หมากเด็ดของการสอนคณิตศาสตร์

การเล่นหมากเก็บนั้นต้องอาศัยทักษะหลายอย่างทั้งการนับ  กล้ามเนื้อ  การควบคุม  ความมุ่งมั่น ยิ่งถ้าเล่นกันหลายๆ คน เด็กจะต้องรู้จักการรอคอย  ลำดับก่อนหลัง  กฎกติกาต่างๆ  ซึ่งจะว่าไปแล้วการเล่นหมากเก็บนั้นครอบคลุมพัฒนาการทั้งสี่ด้าน  รวมถึงได้นำการนับเลขมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่อีกด้วย (ต้องขอบคุณคนคิดค้นเกมส์นี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย  ที่ทำให้โลกใบนี้มีการละเล่นที่ยอดเยี่ยม)
        การเล่นหมากเก็บโดยการใช้ก้อนหินนั้นเด็กจะได้ประโยชน์หลายอย่าง  โดยในครั้งแรกของการเล่นเมื่อได้ไปเลือกเก็บก้อนหินมานั้นเด็กบางคนก็จะเลือกหยิบก้อนใหญ่ๆ  บางคนก็ก้อนเล็ก  บางคนไม่เลือกเจออะไรก็หยิบอันนั้นก้อนเล็กก้อนใหญ่เอาหมด  เมื่อเลือกมาได้ครบห้าก้อนแล้วก็จะมานั่งล้อมวงกัน  โออาน้อยออกว่าใครจะได้เล่นก่อน  พอเหลือสองคนก็มาเป่ายิงฉุบกัน  คนแรกเลือกก้อนใหญ่เวลาเล่นโยนขึ้นไปเก็บได้เม็ดเดียว  หรือบางทีเก็บไม่ได้เลยเพราะว่ามือเล็กเกินกว่าจะหยิบหลายๆ ก้อน  คนที่สองโยนบ้างเก็บได้เม็ดเดียวเหมือนกันเพราะว่าเมื่อกี้ดูคนแรกโยนเห็นว่าต้องใช้แรงประมาณนี้เลยโยนแรงไปเอื้อมมือคว้าไว้ได้แค่เม็ดเดียว  ส่วนคนที่สามเห็นสองคนแรกทำแล้วกะว่าสบายแล้วเรามีทั้งเม็ดใหญ่และเม็ดเล็ก  ที่ไหนได้พอโยนขึ้นไปจริงๆ  เลือกไม่ถูกเลยว่าจะรอรับเม็ดใหญ่หรือเม็ดเล็กดีเลยไม่ได้ซักเม็ดต่างคนเลยต่างตกลงกันว่าเดี๋ยวไปเก็บหินมาใหม่เอาให้พอเหมาะพอดี  นี่นับว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับการลองผิดลองถูกของเด็กๆ  ที่จะได้ทดลองชั่งน้ำหนักและวัดขนาดของก้อนหินด้วยมือของเขาเอง (และยังเป็นก้าวสำคัญของการลอกเพื่อนอีกด้วย 555...) 
                เล่นไปๆ  ฝีมือก็ยิ่งพัฒนา  ตอนนี้แหละที่การเสียเวลาเล่นหมากเก็บได้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง  เมื่อเด็กๆ  ได้นึกย้อนกลับไปในช่วงเริ่มเล่น  ระหว่างที่พัฒนาฝีมือ  และในปัจจุบันที่เล่นได้เก่งแล้ว  เขาจะเรียนรู้ว่าการฝึกฝนคืออะไร  ความสนุกที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนหรือแรงกระตุ้นที่ทำให้เขาอยากเล่นและเล่นจนเก่งคืออะไร  เมื่อเขานำไปเปรียบกับสิ่งที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจำเป็นต้องเรียนรู้  หรือเป็นสิ่งที่เขาอยากรู้ก็ตาม  เขาจะสามารถสร้างแรงจูงใจขึ้นมาได้เองและทำมันจนสำเร็จ  กระบวนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันสองวันมันใช้เวลาพอสมควร  กระบวนการนี้แหละที่เรียกว่า "พัฒนาการ"
        หมายเหตุ  กฎกติกาการเล่นแตกต่างกันไปในแต่ละที่โปรดศึกษาวิธีการเล่นแต่ละแบบเพื่อความเหมาะสมกับอายุและสิ่งแวดล้อม