วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ออทิสติกหรือแค่ฟิกเซชั่น

เนื่องจากอาการของเด็กออทิสติกคือไม่สบตาไม่เข้าสังคม ชอบพูดภาษาแปลกๆ เป็นอาการเด่น  ซึ่งถ้าเราย้อนไปดูในปฏิทินพัฒนาการแล้วจะเห็นว่าในเด็ก 1 เดือนเด็กจะมีการสบตา จ้องหน้า ยิ้มทัก  ยิ้มตอบ  ที่เป็นพัฒนาการในด้านสังคม และในเด็ก 2-3 เดือน เด็กจะตอบสนองต่อเสียงกระดิ่ง ส่งเสียง  ทำเสียงอูอา หัวเราะ ทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ  ที่เป็นพัฒนาการทางด้านภาษา  และพอถึง 4-5 เดือนเด็กจะเริ่มหันหาเสียงเขย่าหรือเสียงเรียก 
เมื่อนำอาการของเด็กออทิสติกมาเปรียบเทียบกับลำดับพัฒนาการแล้วจะเห็นว่าทางด้านสังคมเด็กยังไม่มีการสบตา จ้องหน้า ยิ้มทัก ยิ้มตอบ ที่ชัดเจน ทางด้านภาษามีการพัฒนามาหยุดอยู่ที่ 4-5 เดือนคือไม่ค่อยหันหาเสียงเขย่าหรือเสียงเรียก จึงทำให้อาจคิดไปได้ว่าเด็กมีภาวะติดข้อง (fixation) อยู่ในพัฒนาการช่วงวัยนี้ และไม่สามารถไปต่อได้  เด็กหลายๆ คนผู้ปกครองพยายามส่งเสริมให้มีพัฒนาการในขั้นต่อๆ ไป แต่ก็ยังคงเห็นลักษณะของการติดข้องอยู่ในช่วงวัยดังกล่าวอยู่ดี 
           อย่างไรก็ตาม "ออทิสติกหรือแค่ฟิกเซชั่น" เป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งในหลายๆ สมมติฐานที่ทำให้เราได้ฉุกคิดหรือนำมาเป็นแนวทางการแก้ไขเท่านั้น ส่วนจะแก้ไขอย่างไรให้หายจากอาการ ตอนนี้คงยังไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้...


หลายสำนัก


การเรียนการสอนในปัจจุบันมีวิธีการที่หลากหลาย  ถ้าเปรียบเทียบกับหนังจีนกำลังภายในแล้วก็เรียกว่ามีอยู่หลายสำนัก  แค่เรียนให้อ่านออกเขียนได้เท่านั้นมีคนคิดค้นวิธีการมากมาย  ต้องแนวนั้นแนวนี้จนผู้ปกครองงงไปตามๆ กัน  เพราะก่อนนำบุตรหลานเข้าไปเรียนเขาโฆษณาสรรพคุณของแนวทางไว้อย่างยอดเยี่ยม  แต่พอเข้าไปเรียนจริงๆ  ทำไมถึงมีหลายอย่างที่ไม่ถูกใจเราซักเท่าไหร่
           มาดูที่เป้าหมายของเราก่อนว่าเราต้องการให้ลูกเข้าไปเรียนรู้อะไร  ถ้าการที่เราส่งลูกเข้าไปเรียนเพื่อให้เขาอ่านออกเขียนได้เป็นประเด็นหลัก  สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเป็นประเด็นรอง  ก็คงต้องดูโรงเรียนที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านการเขียนให้มากหน่อย  มีแนวทางหรือลำดับขั้นเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ที่เป็นรูปธรรมเพียงพอให้มองภาพออกว่าถ้าเรียนไปแล้วในท้ายที่สุดลูกของเราจะสามารถอ่านออกเขียนได้  จากนั้นจึงดูองค์ประกอบในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นอาคารเรียน  ผู้คน  เพื่อนนักเรียน  และกิจกรรมอื่นๆ  ที่เป็นประสบการณ์ในระหว่างอยู่ที่โรงเรียน 
           ส่วนใครที่มองในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก  การอ่านออกเขียนได้เป็นประเด็นรอง  คงต้องมองหาโรงเรียนที่ตอบสนองสิ่งที่ตัวคุณเองต้องการว่าต้องการให้ลูกเรียนแล้วได้อะไรบ้าง  ตัวอย่างเช่น บรรยากาศในห้องเรียน  ความสามารถของครูในการสอนให้สนุก  กิจกรรมหลากหลาย  การเรียนการสอนที่เน้นภาษาต่างประเทศ  การบูรณาการวิชาการ  ความคิดสร้างสรรค์  ฯลฯ  จากนั้นจึงดูว่าเมื่อทางโรงเรียนเตรียมกิจกรรมที่หลากหลายเหล่านี้ไว้ให้นักเรียนแล้ว  เวลาที่ให้กับกิจกรรมการอ่านการเขียนมีมากพอหรือไม่  หรือทางโรงเรียนมีแนวทางอย่างไรใช้เวลานานมั๊ยกว่าที่เด็กจะอ่านออกเขียนได้  เพราะคงไม่มีโรงเรียนไหนที่บอกว่าเด็กที่เรียนโรงเรียนนี้แล้วจะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  แต่เราจะให้ประสบการณ์ที่เหนือชั้นกว่าโรงเรียนอื่นๆ  เพราะการอ่านการเขียนยังไงก็เป็นเบื้องต้นของการแสวงหาความรู้ในโรงเรียน
       อย่างไรก็แล้วแต่การโฆษณากับการเรียนการสอนจริงก็มีข้อแตกต่างกันอยู่  การโฆษณาอาจพูดข้อดีเอาไว้หลายอย่างเวลาไปเรียนจริงอาจพบว่ามีข้อดีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้โฆษณา  หรือโฆษณาข้อดีเอาไว้หลายอย่างแต่เวลาไปเรียนจริงพบว่ามีข้อเสียหลายอย่างเหมือนกัน  ดังนั้นการส่งลูกไปโรงเรียนก็เหมือนกับการลงทุนอย่างหนึ่ง  ผู้ออกทุนให้ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการลงทุน