วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เป้าหมาย "การแปรงฟัน"

เมื่อได้เป้าหมายแล้ว  จากนั้นจึงทำการกำหนดสามห่วงพัฒนาการขึ้นมาว่ามีสิ่งใดบ้างที่จำเป็นและสำคัญสำหรับการแปรงฟันซึ่งในที่นี้เราจะกำหนดสามห่วงขึ้นมาดังนี้คือ  ควบคุมแปรง  จุดสัมผัส ความสะอาด
ควบคุมแปรง คือการใช้ร่างกาย (มือ) บังคับควบคุมแปรงสีฟันให้ได้อย่างใจคิด
จุดสัมผัส คือ จุดที่สัมผัสระหว่างหัวแปรงกับฟัน
ความสะอาดคือ การควบคุมแปรงสีฟันไปในทิศทางต่างๆ ให้หัวแปรงถูกจุดสัมผัสที่กำหนดเพื่อทำความสะอาด
          ต่อมาจึงนำสามห่วงที่กำหนดขึ้นมานำไปทำการพัฒนาตามเป้าหมายที่วางเอาไว้คือการแปรงฟัน  สำหรับห่วงแรกเมื่อเด็กมีกำลังพอจะควบคุมนิ้วมือบังคับจับแปรงได้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้แล้วเราจะฝึกให้หมุนแปรงไปมาด้วยสองนิ้วโดยมีอีกสามนิ้วเป็นนิ้วช่วยพยุง  เมื่อหมุนได้คล่องแล้วถัดไปจึงฝึกวงสวิงเพื่อแปรงฟันทางด้านขวา  ทำได้โดยจับแปรงให้ถนัดด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้จากนั้นฝึกการขยับมือขึ้นลง(ให้ข้อมืออยู่นิ่งๆ)  , เลื่อนข้อมือไปทางซ้ายและทางขวา  ขึ้นบนและลงล่าง  , หมุนข้อมือเป็นวงกลมทั้งซ้ายและขวา  เมื่อฝึกวงสวิงเพื่อแปรงฟันด้านขวาแล้วเวลาฝึกแปรงด้านซ้ายให้ฝึกคล้ายกันเพียงแต่เปลี่ยนจากจับแปรงคว่ำมือเป็นหงายมือเพื่อให้แปรงหันไปทางซ้าย
         ห่วงที่สองถ้าเป็นเด็กปกติให้บอกจุดสัมผัสต่างๆ ในช่องปากขณะแปรงฟันได้เลยว่าฟันหน้าจะขยับหัวแปรงอย่างไร  ฟันกรามขยับอย่างไร ซอกฟัน ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านบนของฟัน  การทำความสะอาดลิ้น  ปุ่มเหงือก และส่วนอื่นๆ ในช่องปากเราควรขยับหัวแปรงอย่างไรเพื่อให้ขนแปรงถูกจุดสัมผัส   ในเด็กพิเศษเราควรเพิ่มความเป็นรูปธรรมให้เด็กก่อนโดยให้เขาทดลองใช้แปรงทำความสะอาดสิ่งอื่น (ของเล่นหรือสิ่งของที่มีลักษณะต่างๆ) ในท่าทางที่ได้ฝึกมา  ก่อนการแปรงจริงในช่องปากเพื่อให้เขาเห็นจุดสัมผัสว่าเมื่อเราขยับแปรงอย่างนี้ขนแปรงหันไปอย่างไร และไปสัมผัสกับวัตถุจุดใดบ้าง
               ห่วงที่สามในเรื่องความสะอาดนั้นนอกจากการทำความสะอาดฟันแล้วเราควรดูแลความสะอาดในส่วนของตัวเด็กและสถานที่ที่ใช้แปรงฟันทั้งก่อนการแปรง  ระหว่างแปรง และหลังแปรงฟันให้มีความสะอาดตามที่ควรจะเป็น
               เมื่อตั้งเป้าหมาย  กำหนดสามห่วง  และดำเนินการตามสามห่วงพัฒนาการแล้ว  ความเร็วช้าที่เด็กจะแปรงฟันได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ สองอย่างคือ สติปัญญาของเด็กและโอกาสในการฝึกฝน  ดังนั้นเมื่อเห็นว่าเด็กยังทำไม่ได้หรือทำได้ช้าอย่าเพิ่งต่อว่า  เราควรหาโอกาสให้เขาได้ฝึกฝนเพิ่มเติม  เพราะการว่าเด็กก็เหมือนการว่าตนเอง...

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สามห่วงกับความเอาแต่ใจ (ภาคต่อ)

ารข่มใจ การให้ ขอบเขต ...............
 

 
ภาพประกอบ
 
 
 
           สามห่วงนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อลดความเอาแต่ใจโดยเริ่มจากฝึกการข่มใจเป็นอันดับแรกเพื่อลดความกระวนกระวายในเวลาที่ความต้องการนั้นมีมากจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ (ขณะที่ถูกความต้องการของตนเองนั้นควบคุมมักขาดสติและทำสิ่งต่างๆ ไปด้วยอารมณ์อยากนั้นๆ) เมื่อฝึกจนสามารถข่มใจตนเองได้แล้วสติก็จะกลับมา หยุดคิดพิจารณาหาวิธีการตอบสนองความต้องการด้วยวิธีที่ดีที่สุด หรือถ้าความต้องการนั้นยังไม่สามารถตอบสนองได้ ก็จะบอกกับตนเองได้ว่าต้องรอไปก่อน สิ่งที่เราต้องการยังไม่สามารถทำได้ตอนนี้ เป็นต้น

           หลังฝึกการข่มใจแล้วได้ฝึกฝนในเรื่องของการให้อยู่บ่อยๆ จะทำให้เราสละทิ้งความต้องการได้ง่ายขึ้น ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวน้อยลง อารมณ์แจ่มใสก็เพิ่มขึ้น เมื่ออารมณ์ในด้านบวกมีมากกว่าทำให้เด็กมีความสดชื่นแจ่มใส พร้อมทำสิ่งต่างๆ และก้าวไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์

            ส่วนในห่วงที่สามนั้นเป็นขอบเขตที่ทำให้เรารู้ว่าการข่มใจ และการให้จะพัฒนาอย่างไร และเป็นไปในทิศทางใดจึงได้ผลตามที่เราคาดหวังไว้ เพราะถ้าเราไม่กำหนด บางพฤติกรรมเมื่อเด็กแสดงออกถึงการข่มใจและการให้ เราจะเกิดคำถามว่าลูกเราได้มีการฝึกฝนเรื่องเหล่านี้อยู่บ้างแต่ทำไมถึงยังเอาแต่ใจตนเอง นั้นเป็นเพราะเรามองพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันแล้วเหมาเอาว่าลูกเราก็ทำอย่างนั้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ลูกเราชอบกินขนมเค้กมากเห็นไม่ได้ต้องกิน แต่ไปถามว่าไปกินขนมเค้กกันมั๊ยตอนเขาอิ่มมากแล้ว เขาคงตอบว่าไม่ไป หรือ เมื่อแม่ใช้ให้ลูกเอาของไปให้พ่อ เด็กเดินถือของไปให้ มันก็คือการให้เหมือนกัน แต่อารมณ์ความรู้สึกคงต่างจากการที่เด็กถือขนมที่ชอบกินอยู่ แล้วกำลังจะหยิบชิ้นสุดท้ายเข้าปากแต่มีคนมาขอกิน ซึ่งถ้าเขาให้ อาจอนุมานได้ว่าเขามีจิตใจที่รู้จักการให้แล้ว เป็นต้น
 
 

สามห่วงกับการเรียนตัวอักษร


ออกเสียงได้   จำการเขียนได้   จำเสียงจำตัวอักษร

       

          การพัฒนาเด็กเพื่อให้รู้จักตัวอักษร เราอาจกำหนดสามห่วงพัฒนาการขึ้นมาใช้ได้ตามนี้ คือ ส่งเสริมให้เด็กออกเสียงตัวอักษร ส่งเสริมให้เขียนตัวอักษร และที่สำคัญความจำที่แม่นยำจะทำให้เรียนรู้การอ่านการเขียนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเด็กจำเสียงของตัวอักษรนั้นได้เขาจึงค่อยๆ เลียนเสียงตัวอักษรนั้น จนในที่สุดออกเสียงได้คล่อง
           เมื่อจำรูปตัวอักษร ลักษณะของตัวอักษรได้ เขาจึงค่อยๆ ลากเส้นไปตามทิศทางต่างๆ เป็นตัวอักษร จนในที่สุดสามารถเขียนได้จนคล่องมือ




ภาพประกอบ

 


วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สามห่วงกับความเอาแต่ใจ



การข่มใจ การให้ ขอบเขต
        


          ห่วงแรกการข่มใจ ใครๆก็ทำได้อยู่ที่การฝึกฝนและประสบการณ์ เอาแต่ใจส่วนใหญ่ใช้กับเด็กที่ชอบใช้อารมณ์ อยากได้นั่นนี่แล้วต้องเอาให้ได้ ไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อมหรือคนอื่นๆ ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กทุกคนจะเอาแต่ใจก่อนแล้วค่อยๆเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมจนความเอาแต่ใจลดน้อยลง

          เด็กที่เอาแต่ใจส่วนใหญ่ไม่รู้จักการข่มใจ ไม่รู้จักข่มใจเพราะไม่ได้รับการขัดใจ เด็กที่เกิดมาเขาจะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม ถ้าอยากได้อะไรแล้วสิ่งแวดล้อม (อาจเป็นพ่อแม่หรือบุคคลที่อยู่รอบตัวเขา) ขัดใจจะทำให้รู้สึกทุกข์ใจ คราวหน้าก็จะเรียนรู้ว่าทำอย่างไรที่จะไม่ให้ถูกขัดใจ ต้องคิดหาวิธีการเลี่ยงไปตอบสนองความอยากของตนเอง โดยข่มใจไว้ก่อนแล้วคิดหาวิธีการ ทำอย่างนี้แล้วทำให้เด็กรู้จักคิดมากขึ้นมองไกลขึ้น

          แต่ถ้าอยากได้อะไรแล้วสิ่งแวดล้อมไม่ขัดใจ ตอบสนองให้ความต้องการของเขาง่ายๆ เด็กไม่ต้องคิดหาวิธีการต่างๆ อาจทำให้กลายเป็นคนที่มองอะไรใกล้ๆ คิดสั้นๆ เพราะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมบ่อยๆ ว่า "ทำแค่นี้ก็ได้แล้ว"

          ห่วงที่สองการให้ พ่อแม่บางคนบอกว่าสอนให้เอาของไปให้คนโน้นคนนี้ตั้งมากแล้วหมดไปกับการสอนอย่างนี้แล้วลูกยังไม่รู้จักให้ ไม่รู้ทำไม นั่นเพราะเขายังไม่รู้จักการให้ที่ต้องให้ของที่เป็นของๆ เขา เขารู้จักแต่เอาไปให้เพราะแบ่งไว้ให้แล้วว่า นี่ของลูกนะ นี่สำหรับคนนั้นคนนี้ แต่ถ้าเราให้เป็นของๆ เขาแล้วในขณะที่เขาไม่อยากแบ่งปันเห็นว่าสิ่งๆนั้นเป็นของๆ เขาอยู่ แล้วเขาสามารถแบ่งปันได้ เด็กจะรู้จักการให้ที่ไม่ใช่การเอาไปให้

          ห่วงที่สามขอบเขต
          ขอบเขตของการข่มใจในที่นี้ คือถ้าเกิดความอยากหรือต้องการอะไรแล้วข่มใจไม่ทำตามความอยากหรือความต้องการนั้นได้
          ขอบเขตของการให้ในที่นี้ คือ ต้องให้ในสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นของเขา

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องราวของลูกรักแบบฉบับสามห่วงพัฒนาการ

 
        ทำความรู้จักกับแนวคิดสามห่วงพัฒนาการให้มากขึ้น ผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราว บอกเล่าความรู้สึก หรือสอบถามแนวทางวิธีการปฏิบัติต่อลูกรักอย่างตรงจุด ผ่านเฟสบุคสามห่วงพัฒนาการ






วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สามห่วงพัฒนาการกับการนำไปใช้

      จากแนวคิดสามห่วงพัฒนาการเรามีสามคำใหญ่ๆ คือ

1 การช่วยเหลือตนเอง
2 การเล่น
3 ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ




          การช่วยเหลือตนเอง ดูว่าเด็กช่วยเหลือตนเองได้ตามวัยหรือไม่ ซึ่งเราหาข้อคำถามได้จากตัวเราเองว่าตอนที่เราอายุเท่าๆ กับลูก เราทำอะไรได้บ้าง เช่น ทานข้าวเอง จับช้อนถูกวิธี ใช้ส้อมคู่กับช้อน อาบน้ำแต่งตัวเอง ใส่กระดุมหน้า ใส่ถุงเท้ารองเท้าเอง เป็นต้น จากนั้นก็นำข้อคำถามเหล่านั้นไปเปรียบเทียบกับเด็กข้างบ้านหรือเพื่อนในวัยเดียวกันมากกว่าสองคนว่าเขาทำได้หรือไม่  การช่วยเหลือตนเองนั้นเป็นสิ่งแรกที่เด็กจะต้องทำให้ได้ก่อนการเล่น (ตามวัย)
          การเล่น เมื่อเด็กช่วยเหลือตนเองได้พอสมควรแล้วเขาจะเหลือเวลาว่างเอาไว้เล่น ช่วงที่เด็กเล่นนี้เขาจะได้พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ คือ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งอยู่ที่ว่าเล่นอะไร เล่นกับใคร มีสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ถ้าเราต้องการส่งเสริมทักษะในด้านต่างๆ เราเพียงสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเท่านั้นแล้วให้เขาลองผิดลองถูกลองแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ จนเกิดความชำนาญ บางครั้งเด็กไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้เราอาจให้คำแนะนำบางอย่างกับเขาว่าลองทำแบบนี้ดูซิ เพียงแค่เพิ่มรูปแบบการแก้ไขปัญหาให้เด็กเขาก็จะได้ทดลองทำดูและมีประสบการณ์มากขึ้น
          ด้านร่างกาย เราดูว่า แขนขาได้ใช้งานเต็มที่หรือไม่ มือและนิ้วมือเคลื่อนไหวคล่องตัวหรือไม่
          ด้านอารมณ์ ให้รู้จักอารมณ์ต่างๆ เช่นอารมณ์สงสัย ดีใจ เสียใจ หงุดหงิด ไม่สบายตัว ชอบ ไม่ชอบ กลัว ขยะแขยง พอใจ ไม่พอใจ ฯลฯ
          ด้านสังคม ให้รู้จักการเล่นคนเดียว เล่นสองคน เล่นสามคน เล่นสี่คน เล่นหลายๆ คน รู้จักเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ รู้จักให้ แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักโกรธ ความขัดแย้งและวิธีการแก้ปัญหา เป็นต้น
          ด้านสติปัญญา ดูเรื่องคำศัพท์ อ่านเขียน คิดคำนวณ การเชื่อมโยง การเปรียบเทียบ ลำดับเหตุการณ์ รูปทรง การแก้ไขปัญหา ซึ่งทักษะด้านนี้ส่วนใหญ่แล้วทางโรงเรียนจะเป็นคนลงรายละเอียดให้อยู่แล้ว อาจดูแค่ว่าเด็กสอบผ่านหรือสอบตก
          ห่วงที่สามที่ต้องดูควบคู่ไปในทุกกิจกรรมที่เด็กทำคือเรื่องระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ ซึ่งอิงกับสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ เช่น บ้าน โรงเรียน และสังคม ในบ้านพ่อแม่เป็นผู้กำหนดระเบียบต่างๆ ให้กับเด็ก จะหย่อนมากหย่อนน้อยแล้วแต่การให้ความสำคัญ ที่โรงเรียนและในสังคมใหญ่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ อยู่แล้วเราก็ใช้เกณฑ์นั้นมาค่อยๆ สอนกันไปหย่อนมากหย่อนน้อยอยู่ที่ผู้ใหญ่ในสังคมนั้นๆ
          
           หมายเหตุ บางกิจกรรมที่เคยส่งเสริมให้เขาเล่นในบ้านเช่นการอ่านการเขียน เมื่อเด็กโตขึ้นอยู่ในโรงเรียนอาจเป็นสิ่งที่เขาจำเป็นต้องทำให้ได้ กิจกรรมนั้นจะถูกย้ายมาอยู่ในห่วงของการช่วยเหลือตนเองทันที
นี่คือหลักการคร่าวๆ ในการใช้สามห่วงพัฒนาการ