วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หนูไม่ได้อยากเป็นเด็กมีปัญหานะ!


          ที่บ้านของหนูน่ะสุขสบายมากเลย  พี่เลี้ยงก็ใจดีตามใจหนูแล้วก็ทำให้หนูทุกอย่าง  ทั้งป้อนข้าว  ทำอาหารอร่อยๆ  หนูทำหกเลอะเทอะก็เช็ดให้  บางครั้งก็เล่นดีดเม็ดข้าวกันกับหนูซึ่งหนูชอบมากเลย  เวลาตัวสกปรกพี่เลี้ยงของหนูก็คอยทำความสะอาดให้  อาบน้ำให้  แต่งตัวให้  หนูไม่ชอบอย่างเดียวคือต้องยืนกางแขนไว้สูงๆ  เพราะพี่เลี้ยงบอกว่าเป็นท่าเตรียมพร้อมก่อนออกไปเที่ยว  จริงๆ เวลาแต่งตัวหนูอยากนอนมากกว่าแต่ยืนแต่งตัวก็ได้ไม่เมื่อยมากเท่าไหร่เพราะพี่เลี้ยงหนูเป็นคนเก่งมากๆ  ให้หนูยืนกางแขนแป้บเดียว  เสื้อผ้าก็มาอยู่บนตัวเรียบร้อย  เวลาไปเที่ยวบางครั้งหนูก็ชอบเดินเองเหมือนกันนะ  แต่อุ้มก็ดีเหมือนกัน  พี่เลี้ยงบอกว่ากลัวหนูจะหกล้มเจ็บขาต้องทายาไม่อยากเห็นหนูร้องไห้  แล้วบางทีก็สกปรกด้วยมีเชื้อโรคเต็มไปหมด  หนูก็เห็นด้วยนะ  บางทีสกปรกจริงๆ ไม่กล้าเดินเลย  เห็นไหมว่าพี่เลี้ยงของหนูใจดีแค่ไหน  หนูอยู่บ้านมีความสุขมากๆ  เลย  แต่ที่โรงเรียนทั้งๆ ที่ของเล่นเต็มไปหมด  แต่หนูไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่
                อยู่โรงเรียนมีแต่คนบอกว่าหนูเป็นเด็กมีปัญหา?  ไม่จริงซะหน่อย...  ก็เพื่อนชอบวิ่งเร็วเองหนูวิ่งตามไม่ทัน  เวลาเข้าห้องน้ำเพื่อนก็ชอบล้อว่าเป็นเด็กอนุบาลล้างก้นเองไม่ได้ต้องให้ครูล้างให้  กินข้าวคุณครูก็ว่า  ว่าชอบอมข้าวไม่ยอมตักกินเองต้องให้คอยป้อนอยู่ตลอด  เวลาเรียนครูก็ชอบว่าว่าไม่ตั้งใจเรียนนั่งอยู่กับที่ไม่ได้  ชอบเดินไปเดินมา  แหม  ก็ครูสอนอะไรก็ไม่รู้น่าเบื่อจะตายหนูเลยเดินไปหาอะไรเล่นไง  ครูจะได้ไม่ต้องสอนหนู  หนูก็เล่นของหนูเองดีจะตายไป  สนุกด้วย  หนูคิดให้ครูด้วยนะเนี่ย  แล้วยังมาว่าหนูว่าเป็นเด็กมีปัญหาอีก  คุณครูเนี่ยไม่ได้เรื่องเลย  หนูไม่ได้อยากเป็นเด็กมีปัญหาซักหน่อย  ทำไมทุกคนต้องว่าหนูมีปัญหาด้วยทั้งๆ ที่หนูเพิ่ง 7 ขวบเอง แล้วหนูก็ยังเป็นเด็กอยู่ด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นามธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ถ้าเราเข้าใจแล้วมันจะช่วยนำไปสู่การเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น


นามธรรมเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิด  เป็นเรื่องของจิตใจ  ละเอียดอ่อนและเข้าใจยาก  แต่เรื่องทุกเรื่องก็มีวิธีการทำความเข้าใจเพียงเรารู้ลำดับพัฒนาการของเรื่องต่างๆ  ที่มาที่ไป  รู้เหตุผลของมัน  เราก็จะเข้าใจมันได้...ซักวัน

               "รูปธรรมเป็นสิ่งที่เห็นได้  สัมผัสได้  มีรูปทรงสีสันต่างๆ ให้มองให้ดู"

                รูปธรรมและนามธรรมมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่  ยกตัวอย่าง เช่น  เขียนจดหมายถึงกัน เรียกว่า รัก  มาให้เห็นทุกวัน เรียกว่า รัก  ทำกับข้าวให้กิน เรียกว่า รัก  กอด เรียกว่า รัก  ผลัก เรียกว่า โกรธ  โหด คือ การทำหลายๆ อย่างในปริมาณมากกว่าปกติ 
          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่านามธรรมคือนิยามของรูปธรรมนั่นเอง  ซึ่งอาจไม่เหมือนกันในแต่ละคน  แต่ละบ้าน  แต่ละสังคม  นิยามรักสำหรับบางคนอาจหมายถึงการพูดมากๆ  ทำสิ่งต่างๆ ให้กันและกัน  แต่กับบางคนอาจหมายถึงการพูดน้อยๆ  แสดงออกแต่พองาม  ซึ่งก็มีความแตกต่างกันออกไป

                แนวคิด 3 ห่วงพัฒนาการก็มีลักษณะเป็นนามธรรม  การเล่น  การช่วยเหลือตนเอง  ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ  สามคำนี้ล้วนได้รับคำนิยามต่างกันออกไปตามระดับอายุ  ความสามารถ  บทบาทและหน้าที่ของบุคคลขณะอยู่ในสังคม  เพราะบุคคลจะถูกคาดหวังจากคนรอบข้างและตนเองว่าเขาควรมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบในเรื่องใดบ้าง  ควรช่วยเหลือตนเองอย่างไรได้บ้าง  ควรเล่นเวลาไหน  เล่นอะไรและเล่นอย่างไร  ทั้งหมดนี้เป็นนิยามจากความคาดหวังในสังคมนั้นๆ  ว่าบุคคลหนึ่งๆ ควรทำอะไร  ควรเป็นอย่างไร 
              ดังนั้นเมื่อเราต้องการใช้แนวคิด 3 ห่วงพัฒนาการเพื่อการพัฒนาใครซักคนเราอาจดูอายุของบุคคลนั้นเป็นอันดับแรก  จากนั้นดูว่าสังคมที่เขาอยู่มีความคาดหวังอย่างไรกับบุคคลอายุเท่านี้  ดูความคาดหวังจากคนรอบข้าง  ดูความคาดหวังของบุคคลนั้นเอง  แล้วจึงกำหนดสิ่งที่ต้องการพัฒนา  เมื่อเราได้เป้าหมายที่จะพัฒนาแล้วทุกอย่างจะง่ายขึ้น

                        เพราะ...  “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน”  5555...

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตอบปัญหาเด็กไม่พูด


คำถาม  :  เด็กไม่พูดกับครู  พูดกับเพื่อนบ้างบางครั้ง  ส่วนใหญ่ชอบนั่งเฉยๆ ทำไงดี

รายละเอียดเด็ก  :  เด็กผู้หญิง  ผิวขาวหน้าตาน่ารัก  เรียนอยู่อนุบาล

การวิเคราะห์ข้อมูล :  ความกังวลตอนนี้อาจอยู่ที่การไม่พูดกับครู แต่ร่วมทำกิจกรรมทุกอย่าง พูดน้อยและชอบนั่งเฉยๆ  ซึ่งตามหลักแล้วเป็นปัญหาในระดับบุคลิกภาพ  การไม่พูด พูดน้อย หรือชอบนั่งเฉยๆ นั้น     เนื่องมาจากเขาไม่มีความสนใจในสิ่งเหล่านี้  สิ่งเร้าต่างๆ อาจไม่โดนใจหรือมีปริมาณไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความสนใจ  และเป็นไปได้ว่าเด็กคนนี้อารมณ์อยากรู้อยากเห็นน้อยหรือมีความสนใจไม่เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ถ้าเราเห็นว่าบุคลิกเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาและต้องการแก้ไข  เราอาจย้อนไปดูก่อนว่าการช่วยเหลือตนเองของเด็กคนนี้เป็นอย่างไร คือ
1 การทำความสะอาดร่างกาย (อึ ฉี่ อาบน้ำ)
2 การแต่งตัว (เสื้อ กางเกง กระโปรง  รองเท้า)
3 การรับประทานอาหาร (การใช้ช้อนส้อม)
4 งานหรือการบ้านต่างๆ ที่โรงเรียน ใน 4 อย่างนี้ดูว่าเด็กทำได้เหมือนกันกับเพื่อนหรือไม่ เช่น ถ้าเพื่อนส่วนใหญ่ใส่รองเท้าเองได้แล้ว  เขาก็ควรจะใส่รองเท้าเองได้แล้ว  แต่ถ้ายังใส่เองไม่ได้อาจเรียกว่าเป็นปัญหาซ้ำซ้อนคือมีปัญหาหลักในส่วนของการช่วยเหลือตนเองและมีปัญหารองในเรื่องบุคลิกภาพ 
          ถ้าต้องการแก้ปัญหาควรตรวจดูทั้ง 4 ข้อในส่วนของการช่วยเหลือตนเองก่อนว่ามีข้อใดยังเป็นปัญหาอยู่หรือไม่แล้วการแก้ไขปัญหาในส่วนของบุคลิกภาพจะทำได้ง่ายขึ้น

แนวทางการจัดการ
          ให้ตรวจดูก่อนว่าในส่วนของการช่วยเหลือตนเองทั้ง 4 ข้อข้างต้นมีปัญหาข้อใดบ้างให้แก้ไขตรงนี้ก่อน  หลังจากนั้นค่อยชี้ให้เห็นความสนุกของการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเริ่มจาก

     1 การเล่นของเล่นต่างๆ (เล่นคนเดียว)
     2 การเล่นกับเพื่อนอีกคน
     3 การเล่นเป็นกลุ่มตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป

     เมื่อเขาเล่นอย่างสนุกสนานปฏิสัมพันธ์ก็จะเกิด  การพูดคุยจะตามมา และเมื่อเขาไปเจอสิ่งที่เขาอยากเล่นแต่เล่นไม่เป็นคุณครูจะเข้ามามีบทบาท  เมื่อครูกับศิษย์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การพูดคุยจะค่อยๆ เริ่มขึ้น

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พัฒนาการไม่มียากินถ้าอยากได้ต้อง...


         เด็กที่มีพัฒนาการบางด้านไม่สมวัยมักมีลักษณะบางอย่างไม่เหมือนเพื่อนในวัยเดียวกัน  จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความกังวลใจจนต้องพาไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาปัญหา  เมื่อกลับมาบ้านก็ดีใจเพราะได้รับการรักษาโดยการให้ยามาแล้ว แต่การบ้านนี่ซิ... ให้มาทำไมก็ไม่รู้ที่โรงเรียนก็มีมากจนทำไม่ไหวอยู่แล้ว 
          หมอให้การบ้านมาทำไม?  กินแต่ยาดีกว่าคงจะหายเหมือนกัน  ผลที่เกิดขึ้น จึงเป็นเช่นนี้
                - 1 อาทิตย์ผ่านไป = อาการไม่ดีขึ้น 
               - 2 อาทิตย์ครบกำหนดไปหาคุณหมออีกครั้ง = อาการไม่ดีขึ้น  กลับไปหาคุณหมอพร้อมปัญหาเดิมได้ยากับการบ้านเหมือนเดิม
               - อีก 2 อาทิตย์กลับไปหาคุณหมอ คราวนี้ทำทั้งการบ้านและทานยาตามกำหนดคุณหมอสั่ง  ยังไม่ทันถึงอาทิตย์ = อาการดีขึ้น (เลยหยุดทำการบ้านทานแต่ยาอย่างเดียว)
               - อีก 2 อาทิตย์ ไปหาคุณหมอก็บอกว่าลูกดีขึ้นหลังจากกลับไปแล้วทำการบ้านทานยา  แต่พอทานยาอย่างเดียวไม่ได้ทำการบ้านต่อ = อาการกลับมาไม่ดีขึ้น  คุณหมอก็ให้ยากับการบ้านเหมือนเดิม 
              - อีก 2 อาทิตย์กลับไปหาคุณหมอ คราวนี้ทั้งทำการบ้านทั้งทานยาครบตามคุณหมอสั่งทุกอย่าง  = อาการดีขึ้นเรื่อยๆ
              - อีก 2 อาทิตย์ ถึงกำหนดไปพบคุณหมอ  คราวนี้คุณหมอให้แต่การบ้านมาบอกว่ายาไม่ต้องแล้ว  กลับมาก็ทำการบ้านตามคุณหมอสั่งทุกอย่าง 
           และเมื่อถึงคิวนัดอีกครั้งเมื่อไปพบคุณหมอ............อาการต่างๆ ก็หายไปจนหมด